วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

ชป.1 ชี้ปริมาณน้ำท่าเท่าปี 2558 ลุ้นสิงหา-กันยาหากไร้พายุ จ่อซ้ำรอยวิกฤติสุดแล้งเหมือนปี 59

17 ก.ค. 2019
2780

แล้งกลางฤดูฝน!!! ชป.1 เผย น้ำปิงเหือดน้อยกว่าปี 61 กว่า 77% น้ำลี้น้ำแม่ทาน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 99% ชี้ตัวปริมาณน้ำท่าเท่าปี 2558 ลุ้นสิงหาคม-กันยายนมีพายุเข้า กษ.ร่อนหนังสือถึง ผวจ.เตรียมรับมือขาดแคลนน้ำ 14 จังหวัดทั่วไทยจ่อเผชิญวิกฤติน้ำ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

 

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า จากที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 62 ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 1 เดือนเศษ และในเดือนกรกฎาคมเกิดฝนทิ้งช่วง หมายความว่าระยะเวลาเดือนครึ่งในช่วงแรกของฤดูฝนที่ผ่านมาฝนน้อย จากข้อมูลสถิติปริมาณฝนพบว่า จ.เชียงใหม่ ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 67 เปอร์เซ็นต์ จ.ลำพูน ฝนสะสมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 49 เปอร์เซ็นต์ จ.แม่ฮ่องสอน น้ำฝนสะสมน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 35 เปอร์เซ็นต์ สรุปตัวเลขทั้งหมดแล้วนำไปเปรียบเทียบกับสถิติพบว่า ปริมาณฝนในปีนี้ใกล้เคียงกับปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่เชียงใหม่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง

“ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขในช่วงต้นฤดูฝน เมื่อเข้าสู่กลางฤดูฝนในช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน อาจจะพลิกกลับ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ในส่วนของน้ำท่าพบว่า แม่น้ำปิงปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว 77 เปอร์เซ็นต์ น้ำลี้ที่ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน น้อยกว่าปีที่แล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ น้ำแม่ทา น้อยกว่าปีที่แล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ ที่แม่ฮ่องสอนซึ่งฝนค่อนข้างดีกว่าจังหวัดอื่นกลับพบว่าปริมาณน้ำท่าแม่น้ำปายน้อยกว่าปีที่แล้ว 54 เปอร์เซ็นต์ แม่น้ำยวมน้อยกว่าปีที่แล้ว 17 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าเทียบกับข้อมูลแล้วปริมาณน้ำเท่ากับปี 2558 ในช่วงต้นฤดูฝน ช่วงกลางกับช่วงปลายฤดูยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป” ผส.ชป.1 แจง

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป. กล่าวต่อว่า สำหรับพายุหมุนประเมินว่าในปี 2562 นี้จะเข้ามาประมาณ 1 ลูก โดยข้อมูลที่มีหากพายุหมุนเข้าเชียงใหม่ตรงๆ ถ้าพายุเข้า 1 ลูก ที่เขื่อนแม่งัดฯ จะได้น้ำต้นทุนเพิ่ม 77 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่กวงฯ จะได้น้ำเพิ่ม 39 ล้าน ลบ.ม. หากดูปริมาณน้ำที่มีอยู่ขณะนี้ที่เขื่อนแม่งัดฯ ยังสามารถรับพายุได้ 3 ลูก ส่วนเขื่อนแม่กวงฯ รับพายุได้มากถึง 5 ลูก กรณีที่จะเกิดน้ำท่วมหากดูข้อมูลจะพบว่าในรอบ 32 ปี จ.เชียงใหม่ มีพายุเข้า 23 ครั้ง น้ำล้นตลิ่ง 14 ครั้ง เมื่อดูสถิติในปี 2558 จะพบว่าปริมาณน้ำในปีนี้ใกล้เคียงกันมาก หากว่าถ้าฝนในช่วงกลางและปลายฤดูปีนี้มีเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะเกิดน้ำท่วมได้บ้าง แต่คาดว่าจะได้มีผลกระทบมาก ที่น่ากังวลมากคือฤดูแล้งหน้าซึ่งจะต้องเตรียมการตั้งแต่ฤดูฝนปีนี้ จึงมีมาตรการการใช้น้ำในฤดูฝนปีนี้กำหนดที่จะใช้น้ำฝนเป็นหลักแล้วใช้น้ำชลประทานเป็นน้ำหนุนเสริม เพื่อที่จะประหยัดน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด

จากข้อมูลปริมาณน้ำท่าของสำนักงานชลประทานที่ 1 ที่ส่อจะเจอวิกฤติแล้ง สอดคล้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กษ 0212/ว1778 แจ้งเรื่องการเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงปี 2562 เรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยระบุว่าด้วยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปี 2462 จะมีปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าปี 2561 และน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ โดยในปีที่แล้วต่ำกว่าค่าปกติอยู่แล้ว 3 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้โดยช่วงตันกรกฎาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนลดลง และมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 5-15 กรกฎคม 2562 จะเป็นช่วงที่ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย แม้ว่าจะมีฝนบ้างในบางพื้นที่ แต่โดยรวมจะมีปริมาณและการกระจายน้อย ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ฝนสะสม 10 วัน (ระหว่างวันที่ 18-27 มิ.ย. 62) พบว่ามีพื้นที่ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 10 มม. เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานและไม่มีแหล่งน้ำตันทุนสำรอง ที่อาจจะมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 14 จังหวัด และพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 50 มม. ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ต้องเฝ้าระวังฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ 46 จังหวัด

สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 14 จังหวัดประกอบด้วย ภาคเหนือ 5 จังหวัด จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา และ จ.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี และ จ.ตราด ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังฝนทิ้งช่วง 46 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 12 จังหวัด จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน ลำพูน ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และ จ.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม นครราชสีมา สุรินทร์ เลย บึงกาฬ ศรีสะเกษ สกลนคร ยโสธร ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร และ จ.อำนาจเจริญ ภาคกลาง 6 จังหวัด จ.สุพรรณบุรี ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สระบุรี และ จ.กาญจนบุรี ภาคตะวันออก 3 จังหวัด จ.ชลบุรี ตราด และ จ.ระยอง ภาคใต้ 6 จังหวัด จ.สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส และ จ.สงขลา

พื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวปีการผลิต 2562/63 รอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่ ข้อมูลกรมการข้าว ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 มีการปลูกข้าวแล้ว 66 จังหวัดพื้นที่ 10.98 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 61 จังหวัด พื้นที่ 5.74 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 56 จังหวัด พื้นที่ 5.24 ล้านไร่