วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

อุปสรรคเกินคาด!!! เจาะอุโมงค์ส่งน้ำเติมแม่กวงเจอตอ ทั้งโพรงถ้ำขนาดใหญ่ทั้งน้ำใต้ดิน เร่งแก้ไขจนฝ่าไปได้งานขยับแล้ว

24 มิ.ย. 2019
8809

อุปสรรคเกินความคาดหมาย อุโมงค์แม่แตง-แม่งัด-แม่กวง เจอทั้งโพรงถ้ำขนาดใหญ่ เจอน้ำใต้ดินท่วมหัวเจาะ แต่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง เผยผลงานภาพรวมยังน้อยกว่าแผน มอเตอร์ซ่อมเสร็จเริ่มลุยเจาะได้แล้ว พร้อมเร่งแก้ปัญหาโพรงถ้ำเป็นการเร่งด่วนแล้ว ด้านพื้นที่อุทยานต้องรอ ครม.ใหม่เคาะการเพิกถอน ส่วนงานวางท่อเหล็กเอาน้ำแม่งัดเติมแม่แตงรุกคืบต่อเนื่อง

ที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ต.สันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 หรือ ผสญ.1 กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา หรือโครงการอุโมงค์ส่งน้ำ แม่แตง-แม่งัด-แม่กวง ว่า ผลงานการก่อสร้างในภาพรวมทั้งโครงการอยู่ที่ 34.985 เปอร์เซ็นต์ ช้ากว่าแผนงานไปราว 27.428 เปอร์เซ็นต์ โดยภาพรวมงานก่อสร้างทั้งโครงการตามแผนถ้านับถึงช่วงนี้ควรได้ผลงานก่อสร้างราว 62.413 เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ พื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติฯ ยังอยู่ในกระบวนการเพิกถอนเพื่อขอใช้ ซึ่งประเด็นนี้ต้องรอ ครม. ชุดใหม่พิจารณา

“อีกปัจจัยเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในแนวอุโมงค์ที่เกินความคาดหมาย ได้แก่ การขุดเจาะอุโมงค์ช่วงหนึ่งพบโพรงถ้ำขนาดใหญ่ กว้างราว 40 เมตร ลึก 50 เมตร สูง 20 เมตร ซึ่งผู้รับจ้างได้จัดส่งขั้นตอนวิธีการวางแผนงานและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเรื่องโพรงถ้ำให้กับบริษัทที่ปรึกษาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติในหลักการแก้ไขแบบแก้ไขสัญญา อีกอุปสรรคเป็นประเด็นที่น้ำใต้ดินไหลเข้าท่วมหัวเจาะ TBM ซึ่งการแก้ไขทางผู้รับจ้างได้ทำการอัดฉีดน้ำปูนเข้าไปเพื่อป้องกันปัญหาน้ำใต้ดิน พร้อมกับทำการซ่อมแซมหัวเจาะ ซึ่งใช้เวลานานพอสมควรในการซ่อมแซมกระทั่งแล้วเสร็จและทดสอบระบบการทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ก็ต้องให้เวลาอีกระยะจึงจะเร่งรัดการทำงานได้” ผสญ.1 กล่าว

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการสร้างความมั่นคงทางน้ำให้แก่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เป็นโครงการที่สร้างเพื่อนำน้ำส่วนเกินราว 160 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ไปเก็บกักไว้เพื่อใช้ในช่วงเวลาจำเป็นและในช่วงแล้งที่ขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ยังจะเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อการบรรเทาอุทกภัยให้จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่แตง แม่งัด และแม่กวง ให้มีความสัมพันธ์กันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูแล้งจากเดิม 17,060 ไร่ เพิ่มเป็น 76,129 ไร่

นายจิตะพล รอดพลอย ผสญ.1 กล่าวเพิ่มเติมว่า งานตามโครงการฯ แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 2 สัญญา ในช่วงอุโมงค์ส่งน้ำแม่แตง-แม่งัด สัญญาที่ 1 บริษัท ไร้ท์ทั้นเน็ลลิ่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ใช้วิธีการเจาะและระเบิด และใช้หัวเจาะ TBM มีผลงานก่อสร้างสะสมราว 40.71 เปอร์เซ็นต์ ช้ากว่าแผนราว 0.317 เปอร์เซ็นต์ ช่วงนี้มีอุปสรรคสำคัญคือ เจอโพรงถ้ำขนาดใหญ่ในแนวขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งเมื่อแก้ไขปัญหาจุดนี้ไปได้ผลงานการก่อสร้างน่าจะได้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ส่วนสัญญาที่ 2 มี บริษัท สยามพันธ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ใช้วิธีการขุดเจาะและระเบิด (D&B) และใช้หัวเจาะ TMB มีผลงานก่อสร้างสะสมราว 15.995 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช้ากว่าแผนอยู่ราว 60.556 เปอร์เซ็นต์

“อีกช่วงเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง มี 2 สัญญาเช่นกัน สัญญาที่ 1 มี บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ใช้วิธีการเจาะและระเบิด (D&B) มีผลงานก่อสร้างสะสมราว 19.39 เปอร์เซ็นต์ ช้ากว่าแผนราว 47.145 เปอร์เซ็นต์ ช่วงนี้งานก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ส่วนสัญญาที่ 2 มี บริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง มีผลงานก่อสร้างสะสมราว 68.407 เปอร์เซ็นต์ ช้ากว่าแผนราว 7.631 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ช่วงนี้ประสบปัญหาเรื่องน้ำใต้ดินในแนวขุดเจาะ ขณะนี้หัวเจาะได้รับการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยและทำการขุดเจาะต่อได้แล้วต่อๆ ไปคาดว่าจะเร่งการเจาะให้ได้ผลงานเพิ่มมากขึ้นได้” นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าว

สำหรับความคืบหน้าโครงการท่อส่งน้ำแม่งัด-แม่แตง ซึ่งเป็นโครงการนำน้ำส่วนเกินไปเก็บไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลกลับคืนสู่งคลองส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะส่งน้ำโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงผ่านท่อเหล็กเหนียวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 เมตร ระยะทางทั้งสิ้น 22 กิโลเมตร โดยเริ่มดำเนินการขุดวางท่อตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ขณะนี้สามารถดำเนินการวางท่อเหล็กเหนียวได้รวม 4.67 กิโลเมตร หรือราว 21.19 เปอร์เซ็นต์

 

ส่วนการติดตามตรวจสอบงานการก่อสร้างของหน่วยงานหรือคณะบุคคลภายนอก ล่าสุด นางดวงตา ตันโช ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขตตรวจราชการที่ 15 และ 16 พร้อมคณะ และคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดเชียงใหม่ เข้าดูงานพื้นที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน งานก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ช่วงแม่แตง – แม่งัด สัญญาที่ 1 บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด โดยมี นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 และนายเชษฐพันธุ์ โล่ห์คำ หัวหน้าหน่วยวิศวกรรมบริหาร ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ได้มีการสอบถามความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างตามโครงการด้วย

สำหรับความเป็นมาของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โครงการฯ นี้เกิดขึ้นจากการประเมินว่า การขยายตัวของชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำราวปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นขาดแคลนน้ำมากถึงปีละ 173 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นได้ในอนาคต กรมชลประทานจึงได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลในช่วงฤดูฝนซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความต้องการเฉลี่ย 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พร้อมกับการก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นลำน้ำแม่แตงที่บ้านแม่ตะมาน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตงมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อที่จะผันน้ำส่วนที่เกินความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนของทุกปีเฉลี่ย 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และเมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ราว 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯ คณะรัฐมนตรีได้ประชุมและมีมติเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2554 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน เริ่มดำเนินการโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 และเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2560 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างจากเดิม 6 ปี เป็นระยะเวลา ๑๑ ปี ในกรอบวงเงินงบประมาณ (ผูกพัน 11 ปี) จำนวน 15,000 ล้านบาท

โครงการฯ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงแรก อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง มีด้วยกัน 2 สัญญาๆ ที่ 1 (กม.0+000 – กม.12+500) สัญญาเลขที่ กจ.26/2558 (กสพ.) ลงวันที่ 10 มี.ค. 2558 ผู้รับจ้างคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ราคาสัญญา 2,334,600,000.00 บาท อายุสัญญา 2,340 วันเริ่มสัญญาวันที่ 24 มีนาคม 2558 สิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำด้วยวิธีการเจาะและระเบิด (Drilling & Blasting : D&B) ความยาวทั้งหมด 12,500 เมตร ส่วนสัญญาที่ 2 (กม.12+500 – กม.22+975) สัญญาเลขที่ กจ.29/2558 (กสพ.) ลงวันที่ 10 เม.ย. 2558 ผู้รับจ้างคือ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ราคาสัญญา 1,880,800,000.00 บาท อายุสัญญา 1,440 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 28 เมษายน 2558 สิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 6 เมษายน 2562 ขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำด้วยหัวเจาะ TBM ความยาวทั้งหมด 10,472.683 เมตร

ช่วงที่ 2 อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด มี 2 สัญญาเช่นกัน สัญญาที่ 1 (กม.0+000 – กม.13+600) สัญญาเลขที่ กจ.21/2559 (สพด.) ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ผู้รับจ้างคือ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด ราคาสัญญา 2,857,413,450.00 บาท อายุสัญญา 1,800 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำด้วยหัวเจาะ TBM ความยาวทั้งหมด 13,600 เมตร ส่วนสัญญาที่ 2 (กม.13+600 – กม.25+625) สัญญาเลขที่ กจ.22/2559 (สพด.) ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ผู้รับจ้างคือ บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ราคาสัญญา 2,134,000,000.00 บาท อายุสัญญา 1,800 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำด้วยหัวเจาะ TBM ความยาวทั้งหมด 12,024 เมตร

นอกจากนี้กรมชลประทานได้พิจารณาถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงในช่วงฤดูแล้ง ได้จัดทำโครงการเพื่อนำน้ำที่ไปเก็บกักไว้ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “ธนาคารน้ำของชาวแม่แตง” ส่งผ่านระบบท่อจาก แม่งัดมายังแม่แตง โดยมีโครงการท่อส่งน้ำแม่งัด-แม่แตง ซึ่งดำเนินการส่งน้ำโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงผ่านท่อเหล็กเหนียวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 เมตร จำนวน 1 แถว เริ่มต้นจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมายังคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ความยาวรวมทั้งสิ้น 22 กิโลเมตร มีอัตราการไหลของน้ำประมาณ 2.40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงในช่วงฤดูแล้งได้เฉลี่ยปีละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้างราว 5 ปี