วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

เด็กเชียงใหม่ไม่แพ้ใครในโลก คิดโครงงานเครื่องช่วยคนพิการทางหู ส่งร่วม Google Science Fair ทะลุ 20 คนสุดท้าย

10 มิ.ย. 2019
2690

ทึ่ง “น้องฮับ” เด็ก ม.1 โรงเรียนดังเชียงใหม่ ตัวแทนเด็กไทยติด 1 ใน 20 คนทั่วโลกผ่านเข้ารอบติดสิน Google Science Fair เชื่อปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 422 ล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะสื่อสารด้วยการพูดคุยไม่ได้และอยากช่วยเหลือ ขณะเดียวกันคุณครูที่โรงเรียนมาบอกว่า ครูแนะให้รู้จักโครงการ Google Science Fair คิดจะช่วยเหลือคนพิการทางหู เป็นที่มาของทำโครงการโดนใจกรรมกระทั่งเข้ารอบสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวทราบว่า มีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อายุเพียง 13 ปี นักเรียนโรงเรียนวารีเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล มีความสามารถผ่านไปถึงรอบ 20 คนสุดท้ายจากเด็กทั่วโลก ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ออนไลน์ หรือ Google Science Fair ด้วยการประดิษฐ์อุปกรณ์เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางหู ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่โรงเรียนเพื่อสอบถามข้อมูล ทราบชื่อ เด็กชาย เหมวิช วาฤทธิ์ หรือ น้องฮับ กำลังพูดคุยถึงโครงการที่ได้ทำจนนำมาสู่ความสำเร็จให้เพื่อนฟัง เพื่อเป็นแนวทางในการจุดประกายให้กับเพื่อนๆ เข้าร่วมโครงการการประกวดโครงการวิทยาศาสตร์ออนไลน์ หรือ Google Science Fair

เด็กชาย เหมวิช วาฤทธิ์ หรือน้องฮับ กล่าวว่า การได้ยินเสียงถือว่าเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ ปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 422 ล้านคนทั่วโลก และตอนที่เรียนอยู่มีครูที่โรงเรียนมาบอกว่า มีโครงการ Google Science Fair ซึ่งผมมีแนวคิดที่อยากช่วยเหลือคนพิการทางหู จึงได้คิดทำโครงงานนี้ขึ้นมาโดยเขียนโปรแกรมและประดิษฐ์ผลงาน เพื่อส่งเข้าประกวดกับโครงการดังกล่าว แต่ก่อนหน้านั้น ผมก็ได้นำแนวคิดนี้มาปรึกษาครอบครัว ประกอบกับเคยได้พูดคุยกับคนที่พิการทางหู เขามีน้ำเสียงที่ฟังดูเบา เหมือนไม่มีแรงและเสียงต่ำ จึงน่าจะทำให้คนเหล่านี้หลีกเลี่ยงการพูดและนำภาษามือมาใช้ในการสื่อสาร และมีอยู่วันหนึ่งขณะที่ตนกำลังเล่นกีตาร์ แล้วตนไม่ได้ต่อแอมป์ที่เป็นตัวขยายเสียง และเสียงโทรทัศน์ที่เปิดก็ดังกล่าว ทำให้เสียงกีตาร์ตนเบามาก ขณะนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร ได้เอาคางไปแตะที่ตัวกีตาร์เพื่อจะฟังเสียง ปรากฏว่าเสียงดังขึ้น ชัดเจนขึ้น ตนจึงเกิดแนวคิดว่า อาจจะนำมาใช้กับคนที่พิการทางหูได้ จึงได้นำมาพัฒนาโปรเจคการทำเครื่องช่วยฟัง และการพัฒนาโปรแกรมฝึกการออกเสียงพูดขึ้น

ผลจากการทดสอบมาแล้วประมาณ 20 คน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ความรู้กระดูกหูจากคุณหมอ จนนำมาสู่การทดสอบที่โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร ก็เริ่มทดสอบอย่างไม่เป็นทางการและพัฒนาอุปกรณ์มาเรื่อยๆ โดยตนนำแนวทางการใช้กระบังลมจากการร้องเพลง และตนเคยประกวดร้องเพลงในเวทีเดอะวอยซ์ คิดส์ ไทยแลนด์ มาช่วยฝึกให้คนพิการทางหู เขาทดลองเปล่งเสียงพูด หลังจากใส่อุปกรณ์เครื่องช่วยฟัง เมื่อเขาได้ยิน เขาก็มีความกล้าที่จะทดลองเปล่งงเสียง และก็ได้ยินเสียงที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ส่งผลกระทบต่อหู หรือการติดเชื้อในช่องหูด้วย ตนก็ดีใจที่ได้เข้าแข่ง Google Science Fair และยอมรับว่า ได้รับแรงกดดันมาก แต่ก็ทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น ในจำนวนเด็กไทยที่เข้าแข่งขันจนถึงรอบ 100 คนสุดท้ายมีเพียง 2 คนที่เป็นคนไทย และตนเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยเข้าแข่งขันและเป็นเด็กไทยคนแรกที่เข้าถึงรอบ 20 คนสุดท้ายไปสู่รอบตัดสินในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งตนเห็นว่า ขณะนี้เทคโนโลยี และโลกออนไลน์เปิดให้การเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง และไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการเรียนรู้ เชื่อว่าหลายคนก็มีแนวคิด และโครงการดีๆ มากมาย ตนอยากให้เด็กไทยได้พัฒนา และอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนเด็กไทยในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น เพราะโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคต เพราะเชื่อว่าคนไทยและเด็กไทยทำได้

นางนิชาพร วาฤทธิ์ แม่ของน้องฮับ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าเด็กคนไทยทุกคนเก่ง และทำได้เหมือนน้องฮับ ก็อยากให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นแรงกระตุ้นให้เด็กเกิดพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีที่มากขึ้น ส่งเสริมเด็กไทยตั้งแต่อายุยังน้อย และเปิดเวทีให้กับเด็กได้กล้าแสดงออกมากขึ้น จะกลายเป็นแรงผลักดันในด้านความรู้ที่จะเข้าแข่งขันกับต่างประเทศไทย และอยากขอแรงเชียร์จากคนไทย ช่วยเชียร์น้องฮับในการแข่งรอบสุดท้าย เพราะถือเป็นเด็กไทยคนแรกที่เคยเข้าแข่งในรอบตัดสินของ Google Science Fair และอายุน้อยที่สุด ก็อยากขอแรงเชียร์จากพี่น้องในประเทศไทยด้วย