วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและดินถล่ม ย้ำให้ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

01 มิ.ย. 2019
1818

วันที่ 1 มิ.ย. 62 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน และเริ่มมีฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินถล่มปี 2562 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดดำเนินการเตรียมการรับมือให้พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนหากเกิดภัยขึ้นในพื้นที่ โดยกำหนดให้มีกลไกศูนย์ประสานการปฏิบัติ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ร่วม กลุ่มที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนอำนวยการ และส่วนสนับสนุน เพื่อให้เกิดเอกภาพและประสิทธิภาพในการควบคุม สั่งการ พร้อมกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ แบ่งมอบภารกิจ หน้าที่ พื้นที่รับผิดชอบให้ชัดเจน

“นอกจากนี้ได้สั่งการให้มีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ขึ้นในส่วนอำนวยการของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่อติดตามสภาพอากาศ การบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ หากประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่ามีแนวโน้มการเกิดสาธารณภัยสูง ให้เสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายแจ้งเตือนภัยและสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังจุดปลอดภัยทันที” รมว.มหาดไทย กล่าว

พล.อ.อนุพงษ์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับแจ้งเตือนภัยประชาชนได้กำชับให้ทุกจังหวัดดำเนินการในทุกช่องทางที่มี ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น สื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายอาสาสมัคร จิตอาสา โดยให้ความสำคัญกับการส่งข้อมูลการแจ้งเตือนถึงประชาชนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ต่อเนื่อง และทั่วถึง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางแจ้งข้อมูลการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการดูแลประชาชน

“นอกจากนี้ยังมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบจุด/พื้นที่ปลอดภัยให้มีความพร้อมรองรับการอพยพประชาชน และปรับปรุงแผนการอพยพในพื้นที่เสี่ยงภัยให้มีความพร้อม โดยซักซ้อมสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงเส้นทางและสถานที่ปลอดภัยที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงจากกรณีน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มในพื้นที่เชิงเขาหรือพื้นที่ลาดเอียง ตลอดจนคลื่นลมแรงในพื้นที่ริมทะเล ให้มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดระบบให้พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดสาธารณภัย ส่วนพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านการคมนาคมทางทะเลและการท่องเที่ยว กำหนดมาตรการในการประกาศห้ามการเดินเรือออกจากหรือเข้ามายังฝั่ง หากฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของทางราชการให้ดำเนินการทางกฎหมายในทุกกรณี” มท. 1 แจง

พล.อ.อนุพงษ์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หากมีสถานที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย เช่น ถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด ให้สั่งการหน่วยงานรับผิดชอบประกาศแจ้งเตือนปิดกั้นพื้นที่ และห้ามนักท่องเที่ยวหรือบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำชับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น และหน่วยงานตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยจังหวัด ดำเนินการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์และพื้นที่ปลอดภัย สำหรับรองรับการอพยพประชาชนให้มีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง และจัดระบบสื่อสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน เครือข่ายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้มีความพร้อม และให้ประสานความร่วมมือจากภาคเอกชนในการร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆ โดยจัดเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือท้องแบน ประจำไว้เป็นการล่วงหน้า ทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่ ให้ฝ่ายปกครอง หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมกับภาครัฐตามทักษะความถนัดในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย และเร่งการระบายน้ำและการพร่องน้ำออกจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยโดยด่วนที่สุด

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยและดินถล่ม สามารถแจ้งสายด่วนสาธารณภัย 1784 เพื่อขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง