วันศุกร์, 19 เมษายน 2567

“236 ปี ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” อุทยานหลวงจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติยิ่งใหญ่

20 ก.พ. 2019
2388

อุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดนิทรรศการ “236 ปี ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ได้ทรงสร้างความเป็นเอกราช ความมั่นคง และความเป็นไทย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนทำให้สยามประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับอารยะประเทศ

วันที่ 20 ก.พ. 62 ที่อาคารนิทรรศการ 2 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษด์ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นประธานเปิดงานแสดงนิทรรศการ “236 ปี ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมพิธี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น นักเรียน และองค์ภาคส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้การจัดแสดงนิทรรศการที่แสดงถึงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงพระราชอุตสาหะทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรที่ทรงสืบสานพระราชกรณียกิจ อันนำประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทย
โดยนิทรรศการแบ่งออกเป็น 12 ห้อง ประกอบด้วย

ห้องที่ 1 อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤา เป็นห้องที่แสดงถึง ความเป็นกรุงศรีอยุธยาอดีตราชธานีเก่าแก่และมั่งคั่งเพราะเป็นเมืองท่าทางการค้าของภูมิภาคแล้วล้มสลายลงในปี 2310 จากการแผ่ขยายอำนาจของพม่า บ้านเมืองถูกทำลายย่อยยับ ยากจะฟื้นฟูคืนความรุ่งเรืองดุจเดิม หลังจากการกอบกู้อิสรภาพจากพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนาเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ บริเวณฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นสิ้นรัชกาล สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

ห้องที่ 2 สงคราม 9 ทัพ สยาม ล้านนา มหากัลยาณมิตร นิทรรศการแสดงถึง สงครามระหว่าง สยาม และพม่า ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยครั้งที่สำคัญคือ สงคราม 9 ทัพ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ด้วยพระปรีชาสามารถในการบัญชาการรบ จึงทำให้กองทัพสยามมีชัยเหนือพม่า แม้มีกำลังน้อยกว่า โดยมีกองทัพล้านนาของพระเจ้ากาวิละคอยสนับสนุน

ห้องที่ 3 ตั้งกรุงผดุงเอกราช แสดงให้เห็นถึง การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงตั้งราชธานีใหม่ฝากตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากมีชัยภูมิที่ดีกว่า ตามตำราพิชัยสงครามในลักษณะ นาคนาม โดยสืบทอดศิลปกรรมและสภาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา เพื่อฟื้นฟูความรุ่งเรืองและเป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า ตลอดจนการศาสนาของพระราชอาณาจักรแห่งใหม่

ห้องที่ 4-5 ฟูเฟื่องมหานคร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ทั้งการสร้างพระอาราม ตลอดจนการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน พระองค์สนับสนุนส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งกับชาวเอเชียและชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้ากับจีน ที่มีมาตั้งแต่ครั้งพระองค์ทรงดำรงพระอิสสรียยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่งเรือสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายกับต่างประเทศทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในท้องพระคลังเป็นอันมาก

ห้องที่ 6 เมื่อลมเปลี่ยนทิศ ห้องอุโมงค์แห่งกาลเวลา ที่จะนำพาทุกท่านย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่มหาอำนาจรากชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อภูมิภาค สยามต้องมีการปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

ห้องที่ 7 เรียนรู้วิทยาการ รากฐานสู่อารยะ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตกมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ ในช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการรับเอาศิลปะ วิทยาการ และความรู้ในด้านต่างๆ ของโลกตะวันตกเข้ามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมสยาม พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงให้อย่างแม่นยำ ที่หมู่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ร่วมชมเหตุการณ์สุริยุปราคาครั้งนั้นด้วย

ห้องที่ 8 สยามสมัยใหม่ รัชสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงเวลาของการแผ่ขยาดอำนาจจากชาติตะวันตกที่เรียกว่า “ลัทธิจักรวรรดินิยม สยามต้องเร่งปรับตัวจากการเป็นรัฐจารีตเข้าสู่กระบวนการเป็นรัฐสมัยใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันของจักรวรรดินิยมทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส สยามต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างจักรวรรดิทั้งสอง ช่วงเวลาเดียวกัน เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ ได้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ห้องที่ 9 สยามมานุสติ ในห้วงเวลาแห่ง ในห้วงเวลาของความตึงเครียด เนื่องจากภาวะของสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจ ซึ่งนำโดยเยอรมณีและออสเตรีย-ฮังการี หลังสงครามสิ้นสุดสยามได้ก้าวสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกและเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ

ห้องที่ 10 ต่างแคว้นแผ่นดินเดียว การเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีได้เสด็จยังดินแดนล้านนา เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกชาติทุกภาษาที่ล้วนแต่อาศัยอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร อันเป็นพื้นฐานของการวางพระราโชบายในการพัฒนา และสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมือง

ห้องที่ 11 ศาสตร์พระราชาพัฒนาชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ พระองค์ได้พระราชทานศาสตร์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้เป็นกรอบแนวความคิด และทิศทางการพัฒนาชาติไปจนถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ห้องที่ 12 สืบทอดพระราชปณิธาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรเป็นอย่างยิ่ง พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ประชาชน และการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าสืบไป

นิทรรศการนี้มุ่งหวังสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าผ่านนิทรรศการ “236 ปี ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ อาคารนิทรรศการ 2 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่