วันพุธ, 11 กันยายน 2567

ประชาธิปไตยบานเบอะ หน้าเก่าหน้าใหม่แห่สมัคร สส.เชียงใหม่ เกินคาด

รับสมัคร สส.เชียงใหม่ วันแรกคึกคัก หน้าเก่าหน้าใหม่แห่สมัครเกินคาดกว่า 160 คน กกต. ห่วงใช้สื่อออนไลน์หาเสียง เสี่ยงผิดกติกาหากไม่ระวัง เผยมีแค่ 6 พรรคส่ง สส. ลงครบ 9 เขต

บรรยากาศการรับสมัคร สส.เชียงใหม่ วันแรกคึกคัก สู้ศึกเลือกตั้งครบทั้ง 9 เขต มีทั้งผู้สมัครทั้งเก่าและใหม่จากพรรคการเมืองกว่า 20 พรรค มาลงสมัครรับเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก อาทิ พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ผู้สมัครคู่แข่งร่วมเขตเลือกตั้งและต่างเขตทักทายกันอย่างเป็นกันเอง สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครจากอดีต สส.พรรคไทยรักไทย ที่ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น และมีผู้สมัครที่น่าจับตาดูหลายเขต

การรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เชียงใหม่ ใช้ห้องประชุมเลวีนิติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นสถานที่รับสมัคร ตั้งแต่เช้ามืดมีผู้สนใจทยอยเดินทางมาสมัครกันอย่างคึกคัก พร้อมกองเชียร์ผู้สนับสนุนเต็มหน้าสถานที่รับสมัคร ส่วนผู้ที่เดินทางมาสมัครเป็นคนแรกคือ นายสรเดช มานะมีเงินทอง ผู้สมัครเขต 5 จากพรรคพลังท้องถิ่นไทย และ นายโยฮัน ศิลปมิตรภาพ ผู้สมัครเขต 9 จากพรรคพลังท้องถิ่นไทย มาเป็นชุดแรกตั้งแต่เวลา 05.00 น. ก่อนที่ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ จะทยอยเดินทางมา ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้เวลา 08.30 น. เป็นเวลาเริ่มรับสมัคร ซึ่งมีผู้มาลงชื่อก่อนเวลาทั้งสิ้นรวม 160 คน และพรรคที่ส่งครบทุกเขตมีทั้งหมด 6 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรครวมพลังประชาชาติไทย, พรรคชาติพัฒนา และพรรคอนาคตใหม่

นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกในการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งน่าปราบปลื้มที่บรรยากาศประชาธิปไตยได้กลับมาแล้ว จังหวัดเชียงใหม่มีผู้สนใจมาสมัครเป็นจำนวนมากเกินความคาดหมาย พรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีราว 20 พรรค วันนี้มีมาสมัครราว 22 พรรค ทำให้บรรยากาศครึกครื้น มีกองเชียร์ติดตามมาเชียร์พรรคที่ชอบเป็นจำนวนมาก ซึ่งทาง กกต.เชียงใหม่ก็เปิดโอกาสสามารถร้องรำทำเพลงได้ คล้องพวงมาลัยได้ สามารถทำได้ทุกอย่าง เมื่อผู้สมัครได้หมายเลขออกไปแล้วการจะแสดงโชว์ การร้องดนตรีสด หรือมีการแสดงสดใดๆ ก็ตามนั้น ไม่สามารถกระทำได้ ทำได้เพียงแค่เปิดสปอร์ตที่จะใช้หาเสียงออกไปได้เท่านั้น และแห่ไปตามถนนสาธารณะได้ เพียงแต่งานการแสดงสด การเล่นดนตรีสด ทำไม่ได้

“หากนับถึงเวลานี้เชื่อว่าผู้สมัครทุกคนศึกษาข้อกฎหมายมาเป็นอย่างดีแล้ว เรื่องสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกระทำผิดที่น่าเป็นห่วงคงมีเพียงการใช้ช่องทางอิเลคทรอนิคส์ในการหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค ไลน์ ทวิสเตอร์ ซึ่งเป็นสื่อที่รวดเร็ว การโพสการแชร์ไม่ว่าจะโดยผู้สมัคร ผู้สนับสนุน หรือทีมงานอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ ถ้อยคำต่างๆ ที่จะใช้โฆษณาผ่านออนไลน์นั้นจะต้องเป็นถ้อยคำที่สุภาพ ไม่ก้าวร้าว และไม่มีลักษณะเป็นการปลุกระดม ตรงนี้เป็นระเบียบของ กกต. บังคับไว้ที่จะไม่ให้มีการปลุกระดมและใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ” นายเกรียงไกรฯ กล่าว

ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมการหาเสียง ผู้สมัครสามารถหาเสียงได้ในทุกช่องทางเหมือนที่เคยปฏิบัติในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เพียงแต่บางเรื่องจะต้องแจ้งให้ กกต. ทราบก่อนที่จะใช้ช่องทางนั้นหาเสียง อย่างเช่นวันนี้เมื่อผู้สมัครได้รับหมายเลขแล้วสามารถมารับเอกสารเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ช่องทางอิเลคทรอนิคส์ในการหาเสียงได้ โดยต้องระบุว่าจะใช้ใช่ทางไหนสำหรับการหาเสียง จะใช้หาเสียงตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน การใช้พาหนะในการหาเสียงเป็นอีกเรื่องที่ต้องแจ้ง กกต. ก่อน ส่วนแผ่นป้ายก็จะบังคับซึ่งมีขนาดไม่เกิน 1 แผ่นไม้อัด และต้องติดตั้งได้เฉพาะในที่สาธารณะเท่านั้น ที่เอกชนไม่สามารถติดตั้งได้ ซึ่งได้มีการประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นแขวงทางหลวง แขวงทางหลวงชนบทว่าจะกำหนดให้ติดตั้งได้ในจุดไหน ซึ่งผู้สมัครจะได้รับเอกสารในวันที่สมัครนี้

สำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งในวันแรก มีทั้งผู้สมัครทั้งเก่าและใหม่จากพรรคการเมืองกว่า 20 พรรค มาลงสมัครรับเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก อาทิ พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ผู้สมัครคู่แข่งร่วมเขตเลือกตั้งและต่างเขตทักทายกันอย่างเป็นกันเอง ขณะที่เจ้าหน้าที่ กกต.เชียงใหม่ ได้จัดเตรียมความพร้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การลงทะเบียน จับสลาก ตรวจคุณสมบัติ และ รับสมัคร ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ได้เดินทางมาสังเกตการณ์การรับสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้การเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ของ จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้ มีเขตเลือกตั้งลดลงจาก 10 เขต เหลือ 9 เขต มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 1.3 ล้านคน จากประชากรทั้งจังหวัด 1.74 ล้านคน โดยเมื่อการเลือกตั้งในปี 2554 จ.เชียงใหม่ มีผู้มาใช้สิทธิ์มากเป็นอันดับสองของประเทศที่ร้อยละ 83.13