วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

“นายกท้องถิ่น2วาระ” สมเจตน์ ชง สนช. โหวต ประเดิมกรุงเทพ-พัทยา คาดท้องถิ่นที่เหลือโดนด้วย

วัดใจ สนช. จะโหวตนายกท้องถิ่นอยู่แค่ 2 วาระหรือไม่ นำร่องกรุงเทพกับพัทยา ส่อแววอีก 3 ท้องถิ่นที่เหลือหวยออก 2 วาระเช่นกัน “สมเจตน์” เอาจริงแปรญัตติตามที่อภิปรายตอนชั้นรับหลักการ

กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นทยอยเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยในวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นการประชุม ครั้งที่ 88/2561 เป็นวาระพิเศษเพิ่มเติม โดยมีระเบียบวาระการประชุมเพียงวาระเดียวเป็นเรื่องด่วน เพื่อพิจารณากฎหมายทั้งสิ้น 11 ฉบับ โดยมีกฎหมายท้องถิ่น 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ด้วย ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งทั้ง 3 ฉบับเป็นฉบับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ชุดที่มี พล.อ.ไพชยันต์ ค้าทันเจริญ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ รายงานได้สรุปผลการดำเนินการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 45 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2552 โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ได้ขอแปรญัตติ โดยให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 45 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “นายกเมืองพัทยาจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังจากพ้นจากตำแหน่ง” ซึ่งคณะกรรมาธิการไม่เห็นด้วยและผู้แปรญัตติขอสงวน

 

ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. …… ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการธิการแล้ว ที่เสนอ สนช. พิจารณา ในประเด็นการดำรงตำแหน่งของนายกเมืองพัทยา วางหลักไว้ว่า
มาตรา 14 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 แลเะให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 45 นายกเมืองพัทยามีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ในกรณีที่นายกเมืองพัทยาดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง”

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา ซึ่ง ครม. เสนอให้ สนช. พิจารณาเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 61 การแก้ไขมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2552 มีเพียงแค่ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 45 ออกทั้งวรรค ซึ่งวรรคสองบัญญัติว่า “เมื่อนายกเมืองพัทยาพ้นจากตำแหน่ง ให้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง” ขณะที่วรรคแรกในมาตราเดียวกันบัญญัติว่า “ให้นายกเมืองพัทยาดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และมีระยะการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง” เท่านั้น

เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่….) พ.ศ. …….. ในรายงานของคณะกรรมาธิการชุดเดียวกัน ได้สรุปผลการดำเนินการตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติในประเด็นการวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ขอแปรญัตติเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่จากร่างที่ ครม. เสนอ สนช. พิจารณาเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 61 เพิ่มเป็น มาตรา 13/1 โดยขอแปรญัตติเพิ่มความเป็นมาตรา 13/1 ความว่า “มาตรา 13/1 ให้เพิ่มเติมความต่อไปนี้ในวรรคสองของมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528” ความว่า “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไหลังพ้นจากตำแหน่ง”

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่….) พ.ศ. …….. ที่เสนอ สนช. พิจารณา ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเสร็จแล้ว มาตรา 13/1 บัญญัติว่า
มาตรา 13/1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 47 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
ในกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลาสี่ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งสองวาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง”