วันพฤหัสบดี, 10 ตุลาคม 2567

“กมไฟ” กับ “กมลอย” ไผเกิดก่อนกั๋น ???

ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง มาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน (ว่าวฮม) หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ หาใช่เรื่องใหม่เอี่ยมอ่องเพิ่งมามีใช้บังคับในปีนี้ไม่ ประกาศฉบับนี้…

ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๒๓๖ ง วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙


ใช้บังคับกับเทศกาลยี่เป็งมาแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 3 ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อล่ะว่า…
มีระดับสื่อขั้นเทพบางคน เพิ่งจะโผล่มาวิเคราะห์วิจารณ์ค้านประกาศเป็นครั้งแรกในปีนี้

ก็ว่ากันไปตามประสาของท่านละกัน…ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ฉบับนี้ ก่อนที่จะมีผลบังคบใช้ ถกกันมันหยดในห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นใครมั่งหน่วยงานไหนบ้างคงไม่ต้องสาธยายในยึดยาว เพราะว่าจะอย่างไรซะ จังหวัดเชียงใหม่ต้องจัดทำประกาศเพื่อวางมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพียงเพราะเหตุผลเดียวคือ…

ต้อง!!! ออกประกาศตาม…คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๗/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙

คำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับนี้ ข้อ ๒ ให้จังหวัดจัดทำประกาศจังหวัดโดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะกรมการจังหวัด และสภาวัฒนธรรมจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ

รายละเอียดทั้งคำสั่ง คสช. และประกาศจังหวัด หาอ่านกันเอาได้ไม่ยาก แต่อยากสรุปว่า เหตุปัจจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มีเพียงเรื่องเดียวคือ…

เพื่อความปลอดภัย!!

ทั้งหมดที่อยู่ในประกาศพื้นที่ที่ผมเกิดเขาไม่ได้เรียกกันอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นโคมลอย โคมไฟ โคมควัน (ว่าวฮม) ที่เรียกกันในประกาศนั้นน่ะ เอาเป็นว่า ว่ากันตามท่านประกาศละกัน ส่วนของผมน่ะหรือ ผมเรียกของผมอยู่ 2 อย่างว่า…

กมลอย กับ กมไฟ

ชื่อบอกชัดไม่ต้องอธิบายให้มากความ “กมลอย” ปล่อยกลางวัน ส่วน “กมไฟ” ปล่อยกลางคืน

ตั้งแต่จำความได้เกินกว่า 40 ปี ผมเห็นมีแค่ “กมลอย” วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่  เท่านั้น!!! ซึ่งพวกผมเรียกกันว่า วันกระทงเล็ก หลังจากเสร็จพิธีทางศาสนาที่วัดในช่วงเช้า สายๆ หน่อยก็จะรวมพลกันที่ลานวัด มีตั้งแต่…ปล่อยกมลอย ไปจนถึง แข่งกมลอย ในบางปี ก็อยู่ที่ว่า จะมีคนสนับสนุนมากน้อยเพียงใด มีมากก็จัดแข่งกันซะเลย

กว่าจะเสร็จก็หลังเที่ยงวันไปแล้ว เสร็จก็ช่วยกันเก็บกวาดลานวัด จะกลับมาวัดกันอีกทีก็ช่วงเย็นๆ เพื่อนำ “ผางปะตี๊ด” ไปทำบุญที่วัด ไปฟังธรรม “อานิสงส์ผางปะตี๊ด” แล้วก็กลับมาจุดผางปะตี๊ดที่บ้าน นี่ยังไม่นับเรื่องการตกแต่งประตูบ้าน ที่แถวบ้านผมเขาเรียกกันว่า “ประตูป่า” ทำกระทงไปลอยน้ำปิง ก็ว่ากันไปตามนั้นตามแต่ละปีจะมีเพิ่มมา

ส่วน “กมไฟ” อย่างที่บอกล่ะว่า เขาปล่อยกันกลางคืน แต่ก่อนเท่าที่จำความได้ต้องบอกว่า…

แทบไม่มีให้เห็น เห็นแค่ลูกสองลูกตื่นเต้นเรียกลั่นบ้าน ชวนกันดู

แต่ที่เห็นๆ กันอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ต้องบอกล่ะว่า…

ไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่จำความได้ จู่ๆ ก็โผล่มานิยมกันเฉย เชื่อว่าคงมีเหตุผลเดียวที่ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็วคือ…

ปล่อยทีละเยอะๆ สวยงามอร่ามฟ้ายามราตรี

ที่สำคัญแล้วกลายเป็นปัญหาก็คือ…

ปล่อยตะบี้ตะบัน ปล่อยกันทุกวัน ตามแต่ที่คิดอยากจะปล่อย (นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้มีคำสั่ง คสช. กับประกาศจังหวัด)

เป้าหมายเพียงประเด็นเดียว…สนับสนุนการท่องเที่ยว

วันนี้ (21 พ.ย.61) ผมบึ่งไปถึงอำเภอหางดง ด้วยว่าเป็นอำเภอที่ขออนุญาตปล่อย “กมลอย” มากที่สุด (ตามยอดที่รายงานจังหวัดเชียงใหม่) แต่ปรากฏว่า ที่ซึ่งขอปล่อย…..เงียบสนิท

ภาพที่ได้ผมได้จาก ธวัช ชัยแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลชมภู อ.สารภี เชียงใหม่ จัดกันปล่อยกันหน้าสำนักงานเทศบาล เพียงไม่กี่ลูกตามที่ขออนุญาตปล่อย และก็ปล่อยตามเวลาที่กำหนด ตรงนี้ต้องชมกันหน่อยถึง

ความพยายามที่จะเดินให้เป็นไปตามกติกา

อย่างที่ผมเกริ่นไว้เป็นหัวเรื่อง “กมไฟ” กับ “กมลอย” ใครเกิดก่อนกัน ซึ่งผมก็เชื่อว่า มีหลายคนที่คิดเช่นผม ขนาดว่าเกินกว่า 40 ปี ผมก็เห็นแล้วว่ามี “กมลอย” ซึ่งเชื่อเถอะว่า….

“กมลอย” นี้น่ะ มีแค่ที่…แผ่นดินล้านนานี้เท่านั้น

ไอ้ที่เกินกว่าฮีตเก่าฮอยเดิม ที่สำคัญเป็นอันตราย ทำให้หลายคนขนพองสยองเกล้า ทิ้งไปซะดีกว่า เหลือไว้แค่ความเป็นเชียงใหม่ ความเป็นล้านนา ดีกว่าไหม