วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

คืบแก้ปัญหาอ่างห้วยแม่พริก ปิดตายระบบท่อส่งน้ำออกจากอ่างสร้างใหม่แทนทั้งชุด

01 พ.ย. 2018
2160

ตามที่เกิดปัญหาการรั่วซึมอ่างเก็บน้ำห้วยแม่พริก ต.สันทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการนำเสนอผ่านสื่อสารมวลชนไปแล้วก่อนหน้านี้ ความคืบหน้าล่าสุดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 (ผส.ชป.1) กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยแม่พริกเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก ซึ่งได้รับการถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษา โดยมีขนาดความจุอ่างอยู่ที่ 650,000 ลบ.ม. ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2529 ตรวจพบว่าเกิดรั่วซึมบริเวณฐานยันฝั่งซ้าย (left abutment) ด้านข้างลาดฐานเขื่อน จำนวน 2 จุด ขนาดรอยรั่วซึม 30 ซม. และ 80 ซม. ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีน้ำเก็บกักไว้ ร้อยละ 90

“เนื่องจากราษฎรด้านท้ายน้ำมีความวิตกกังวลว่าอ่างเก็บน้ำห้วยแม่พริกจะพังเสียหาย จึงได้มีการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ การแก้ไขในระยะเร่งด่วน จะทำการควบคุมการรั่วซึมให้อยู่ในเกณฑ์ความปลอดภัยเขื่อน เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ของประชาชน ต่อจากนั้นจะเป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 คือ ระยะสั้น โดยจะซ่อมและปรับปรุง อ่างเก็บน้ำกลับคืนสู่สภาพเดิม ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์” นายจานุวัตรฯ กล่าว

ผส.ชป.1 กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาแนวทางที่ 3 เป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อควบคุมสถานการณ์ ซึ่งที่ได้ดำเนินการคือ การลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยการใช้กาลักน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 200 มม. และ 150 มม. จำนวน 2 สาย ความสามารถในการระบาย 20,000 ลบ.ม./วัน การระบายน้ำก็จะดำเนินการเท่าที่จำเป็น เพื่อให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง พร้อมกันนี้ก็จะมีการตรวจสอบยืนยันสาเหตุของการรั่วซึม ซึ่งประเด็นนี้ได้ตั้งสมมุติฐานของการรั่วซึมไว้ 2 สมมุติฐาน โดยสมมุติฐานแรก เชื่อว่า การรั่วซึมมาจากรอยต่อระหว่างตัวเขื่อนกับฐานยันฝังซ้าย ส่วนสมมุติฐานที่ 2 คาดว่า การรั่วซึมมาจากการชำรุดบริเวณท่อของอาคารท่อส่งน้ำ (Conduit) ซึ่งใช้งานมากกว่า 32 ปี

ทั้งนี้พิสูจน์จากพฤติกรรมทางชลศาสตร์ โดยการ เปิด-ปิด วาล์วอาคารท่อส่งน้ำ (Outlet) วัดปริมาณน้ำที่รั่วซึมทั้ง 2 จุด ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ปริมาณน้ำที่รั่วซึมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญกับการ เปิด-ปิด วาล์วด้านท้าย เมื่อปิดวาล์วปริมาณการรั่วซึมเพิ่มขึ้น พอเปิดวาล์วปริมาณการรั่วซึมลดลง นอกจากนี้ยังมีการพิสูจน์ทราบโดยการใช้นักประดาน้ำนำผงสีเติมบริเวณอาคารรับน้ำของอาคารท่อส่งน้ำ (Intake Structure) ผลการพิสูจน์พบว่า หลังจากเติมผงสีภายใน 12 วินาที ผงสีที่เติมปรากฏที่รอยรั่วทั้ง 2 จุด ซึ่งสรุปสาเหตุของการรั่วซึมได้ว่า เกิดขึ้นมาจากความบกพร่อง Imperfection หรือความไม่สมบูรณ์ของของอาคารท่อส่งน้ำจากอ่าง หรือ Conduit Outlet (Conduit Outlet เป็นท่อเหล็กต่อกัน 10 ท่อน ยาวท่อนละ 6 เมตร เพื่อส่งน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ)

“เมื่อทราบสาเหตุของการรั่วซึม ทางชลประทานได้ให้คำปรึกษาถึงแนวทางแก้ปัญหาไว้เป็น 2 แนวทาง ในระยะเร่งด่วนให้นำแผ่นเหล็กปิดปากท่อ Intake ปิดทับด้วยกระสอบทราย เพื่อหยุดการรั่วซึม พร้อมกันหยุดการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ โดยปิดวาล์วด้านท้าย Outlet เพื่อสงวนน้ำให้เกษตรกรใช้ในฤดูแล้ง การส่งน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำให้พื้นที่การเกษตรด้านท้ายแก้ไปโดยใช้กาลักน้ำชั่วคราว ในการส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม ที่สำคัญคือได้แจ้ง อบต.ห้วยทราย ตัดต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นบริเวณทำนบดินทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะระบบรากของต้นไม้” ผส.ชป.1 กล่าว

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผส.ชป.1 กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาในระยะสั้นได้แนะนำให้ปรับปรุงซ่อมแซม โดยการ Plug ปิดท่อ Outlet) เดิมที่เป็นสาเหตุการรั่วซึม (โดยการเทคอนกรีตเข้าไปในท่อเหล็กทำในลักษณะคล้ายข้าวหลาม โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทรายเสนอของบประมาณผ่าน กชภจ. สำหรับใช้ในการดำเนินการ ต่อจากนั้นให้ก่อสร้าง Outlet ใหม่ทดแทนของเดิมทั้งชุด โดยให้ อบต.ห้วยทราย ขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป