วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

องคมนตรีตามงานพระราชดำริ ชมเขื่อนแม่งัดที่ยังคงประสิทธิภาพจัดการน้ำ

20 ต.ค. 2018
2043

วันที่ 19 ตุลาคม 2561 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามโครงการเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

และรับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “การป้องกันน้ำท่วมเชียงใหม่” ภายใต้ปฏิบัติการ One Map.โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมต้อนรับ และหน่วยงานกรมชลประทานนำเสนอข้อมูลรายละเอียด

สำหรับเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เดิมชื่อ เขื่อนแม่งัด ตัวเขื่อนสร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่บ้านแม่วะ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มก่อสร้างปี 2520 แล้วเสร็จปี 2528 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2529 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล หมายถึง เขื่อนแม่งัดมีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน และเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2529

ลักษณะของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนดินมีขนาดความจุ 265 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกในที่ราบเชิงเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำแม่งัดในพื้นที่อำเภอแม่แตง พื้นที่ชลประทานรวม 26,810 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่ชลประทานโครงการแม่ปิงเก่า และพื้นที่ชลประทานของฝายราษฎรในลำน้ำแม่ปิง จำนวน 16 แห่ง พื้นที่ชลประทานรวม 62,000 ไร่ ปัจจุบันชาวบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ จำนวน 37,133 ครอบครัว ประชากร 140,068 คน ที่ประกอบอาชีพการเกษตรสามารถปลูกพืช ทำนาได้ตลอดทั้งปี ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในท้ายเขื่อน 30,000 ไร่ พื้นที่โครงการแม่แฝก 70,000 ไร่ พื้นที่ชลประทานแม่ปิงเก่า 44,900 ไร่ และพื้นที่เพาะปลูกของฝายราษฎรอีก 33,400 ไร่ รวมพื้นที่รับน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ทั้งสิ้น 178,300 ไร่

นอกจากสร้างประโยชน์ด้านเกษตรกรรม เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำปิง รวมถึงการบรรเทาน้ำหลากที่เข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นอาหารโปรตีนและสร้างอาชีพเสริม การเลี้ยงปลาในกระชังให้กับชาวบ้านอีกด้วย โอกาสนี้องคมนตรีได้ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ และปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป