วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

“ตั้งใจเรียนให้จบ” กับ “หมั่นฝึกฝนสมาธิปัญญา” ม.ล.ปนัดดา แนะเด็ก “หลงทาง” พร้อมย้ำ “ความดี” ชนะทุกอย่าง

18 ก.ค. 2018
2269

วันที่ 17 ก.ค. 61 เวลา 13.00 น. ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สิรินธร อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม เข้าตรวจเยี่ยม ประชุม และพบปะกับผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ ครูอาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ ฝ่ายปกครอง บุคลากรในสังกัด นักศึกษาฝึกอบรม และปฏิบัติหน้าที่บรรยายพิเศษ เรื่อง “การเป็นคนไทยที่ดีตามรอยพระยุคลบาท” แก่ลูกหลานเยาวชน

ความตอนหนึ่งของการบรรยาย ม.ล.ปนัดดาฯ กล่าวว่า ลูกหลานในศูนย์ฝึกอบรมฯ และสถานพินิจฯ โดยภาพรวมแล้วจะมุ่งมั่นตั้งใจเรียนต่อในหลักสูตร กศน. คือ ความหวังในชีวิตที่ทุกคนมีความตั้งใจจะเรียนให้จบ เพื่อนำพื้นฐานความรู้ไปประกอบสัมมาชีพอันสุจริต และการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ในหลวงทรงพระกรุณาพระราชทานสอนให้ลูกหลานมีความวิริยะอุตสาหะ มีทัศนคติอันดีมีน้ำใจต่อกัน การศึกษาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกหลานก้าวเดินหน้าต่อไปในชีวิตอย่างไม่ผิดพลาดหรือหลงทาง

“คำว่า “หลงทาง” นิยามได้ว่า เราไม่ยินดียินร้ายกับการถูกครอบงำหรือชี้นำไปในทางที่ผิด หมายถึง พร้อมที่จะทำผิด ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ส่วนอีกคำนิยามหนึ่ง มาจากการที่เรารู้ไม่เท่าทันคน ส่วนหนึ่งมาจากคนที่มาหลอกลวงชี้นำเรา เขาอาจเรียนมาสูงกว่า อาจจบถึงระดับปริญญาแต่ขาดปัญญาของคนดี แต่เอาความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด หลอกลวงต้มตุ๋นคนที่อาจจะเรียนมาน้อย และรู้ไม่เท่าทันตน พฤติกรรมเช่นนี้เกิดมากขึ้นทุกวันๆ ซึ่งจะแก้ไขได้ก็ด้วยพลังแห่งความดี ความซื่อตรง ที่เราทุกคนต้องช่วยกัน รวมความมุ่งมั่นตั้งใจแห่งความดีของทุกคนเป็นหนึ่ง”

วิทยากรอยากแลเห็นลูกหลานมีความรักสมัครสมาน มีความรู้รักสามัคคีตามพระราชดำรัสคำสอน ต้องไม่ลืมว่า ณ บ้านแห่งนี้ อันเป็นบ้านมงคลนามมีความศักดิ์สิทธิ์ เราทุกคนต้องมุ่งมั่นทำความดี อีกทั้งมีความพากเพียรศึกษา หลายคนที่นี่จบมาระดับชั้นประถม จบชั้นมัธยมต้น บ้างเรียนระดับมัธยมปลายแต่ไม่จบ มาโดนปัญหาสังคมที่ปราศจากความเป็นระเบียบเรียบร้อยข่มเหงทำร้าย โดนคนประสงค์ร้ายมาชี้นำ จนต้องมาอยู่ที่นี่ แต่หากมองในมุมกลับ คุณพ่อคุณแม่ของลูกหลานพบปะกับวิทยากรในวันญาติเยี่ยม ณ สถานพินิจฯ หลายแห่ง ปรารภว่าลูกๆ หลานๆ มีพัฒนาการดีขึ้นมาก บ้างเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ ช่วยคุณแม่ทำครัว ล้างจานชาม ซักผ้า เช็ดถูบ้าน ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยทำ นี่หากถือเป็นการพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อการติดตามประเมินผล วิทยากรอาจใช้เป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบระหว่างหลายๆ กรณีของศูนย์ฝึกอบรมฯ และสถานพินิจฯ สิ่งที่หลายฝ่ายวิตกกังวล คือ ภายหลังที่ลูกหลานกลับออกไปจากที่นี่แล้ว บรรยากาศเดิมๆ อันไม่ถูกต้องจะกลับมาครอบงำอีกหรือไม่ อีกทั้งเผชิญต่อปัญหาสังคมอันมีความหลากหลาย สลับซับซ้อน และเป็นภยันตรายในทุกวันนี้

“คำตอบอันจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดของลูกหลานทุกคน มี 2 ประการสำคัญ ณ เวลานี้ คือ 1. มุ่งมั่นตั้งใจเรียน กศน. ให้จบในระหว่างที่ใช้เวลาอยู่ในบ้านนี้ ตามห้วงระยะเวลาที่ตนมี ขวนขวาย ซักถาม เรียนรู้ จากครูอาจารย์ วิทยากรพิเศษ เพื่อเป็นพื้นฐานชีวิตและประกอบอาชีพ ส่วนจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปหรือไม่เป็นอีกชั้นหนึ่งที่ลูกหลานจะต้องขบคิดอย่างรอบคอบ 2. หมั่นฝึกฝนจิต สมาธิ ปัญญา ให้การใช้เวลาอยู่ในบ้านนี้ กลับกลายเป็นพลานุภาพ นำทางเราไปสู่การครองตนที่ยึดมั่นหลักคุณธรรมจริยธรรม บ้างเรียกว่า หลักสุจริตธรรม เราต้องเอาชนะใจตัวเองเพื่อกระทำในสิ่งที่เป็นความถูกต้อง จิต สมาธิ ปัญญา จะไม่นำเราไปสู่การกระทำที่ผิดพลาดใหญ่หลวงอีกต่อไป”

นี่คือภูมิคุ้มกัน ที่พระองค์ได้พระราชทานสอนแก่ลูกหลานไทยทุกคน เราต้องช่วยกันเสริมสร้างขึ้น ให้เป็นทั้งโอกาส กำลังใจสำหรับตัวเราและคนรอบข้าง มองเห็นภาพแห่งอนาคตที่เป็นความหวังแก่ชีวิต ไม่ใช่อยู่อย่างคนสิ้นหวัง ตามสุภาษิตไทยที่ว่า ชีวิตคือการต่อสู้ อันหมายถึง มิใช่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ง่ายดายโดยปราศจากความเพียร ความมีมานะอดทน และศัตรูคือยาชูกำลัง ซึ่งหมายถึงปัญหาทั้งหลายจะเป็นอุทาหรณ์สอนใจ คือ บทเรียนและคำสอนชีวิตที่เราจะต้องก้าวข้ามปัญหาต่างๆ นั้นไปให้ได้ด้วยความเพียรพยายาม ความดีจะชนะทุกสิ่ง”