วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ถึงคิวเชือดร้านอาหาร ออกกฎเหล็ก180วันมีสภาพบังคับ วางมาตรการเพียบ ฝ่าฝืนปรับครึ่งแสนหนักสุดถึงนอนคุก

22 มิ.ย. 2018
3126

วันที่ 20 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศ กฎกระทรวงเรื่อง สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยระบุเป็นการออกกฎโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ พร้อมกับกำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น ๑๘๐ วันนับตั้งแต่วันประกาศ ส่วนเหตุผลหรือเจตนารมณ์ในการออกกฎกระทรวงฉบับนี้ก็เพราะว่า ประชาชนนิยมบริโภคอาหารนอกบ้านหรือบริโภคอาหารปรุงสำเร็จเพิ่มมากขึ้น เชื่อได้ว่าสถานที่จำหน่ายอาหารจะมีผลกระทบสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน ถ้าสถานที่จำหน่ายอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีหรือโลหะหนัก รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ

สาระสำคัญที่ร้านขายอาหารทั้งมวลต้องปฏิบัติ ซึ่งจะเรียกได้ว่าเป็นเบสิคที่ทุกร้านต้องทำ ระบุไว้ใน ข้อ ๓ โดยบัญญัติว่า สถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับสถานที่และบริเวณที่ใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร จำหน่ายอาหาร และบริโภคอาหาร ดังต่อไปนี้
(๑) พื้นบริเวณที่ใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารต้องสะอาด ทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง ไม่ชำรุด และทำความสะอาดง่าย
(๒) ในกรณีที่มีผนังหรือเพดาน ผนังหรือเพดานต้องสะอาด ทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง และไม่ชำรุด
(๓) มีการระบายอากาศเพียงพอ และในกรณีที่สถานที่จำหน่ายอาหารเป็นสถานที่สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
(๔) มีแสงสว่างเพียงพอตามความเหมาะสมในแต่ละบริเวณ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
(๕) มีที่ล้างมือและอุปกรณ์สำหรับล้างมือที่ถูกสุขลักษณะสำหรับสถานที่และบริเวณสำหรับใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร และบริโภคอาหาร เว้นแต่สถานที่หรือบริเวณบริโภคอาหารไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจัดให้มีที่ล้างมือ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดมือที่เหมาะสม
(๖) โต๊ะที่ใช้เตรียม ประกอบหรือปรุงอาหาร หรือจำหน่ายอาหาร ต้องสูงจากพื้นไม่น้อยกว่าหกสิบเซนติเมตร ทำด้วยวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย และมีสภาพดี
(๗) โต๊ะหรือเก้าอี้ที่จัดไว้สำหรับบริโภคอาหารต้องสะอาด ทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง และไม่ชำรุด

ที่สำคัญกว่าเป็นส่วนที่เป็นออปชั่นต่างๆ ของร้านขายอาหาร บัญญัติไว้ตั้งแต่ ข้อ ๔ เป็นต้นไป โดยข้อ ๔ บัญญัติว่า สถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีการจัดการเกี่ยวกับส้วม ที่น่าจะเป็นประเด็นถกเถียงกันพอสมควร ได้แก่ (๑) ที่ระบุว่า ต้องจัดให้มีหรือจัดหาห้องส้วมที่มีสภาพดี พร้อมใช้ และมีจำนวนเพียงพอ ประเด็นก็คือ จำนวนเพียงพอนั่นน่ะ เท่าไร อีกอนุบัญญัติที่น่าสนใจคือ (๓) มีอ่างล้างมือที่ถูกสุขลักษณะและมีอุปกรณ์สำหรับล้างมือจำนวนเพียงพอ เช่นกันที่ว่า เพียงพอ มีอุปกรณ์อะไรและจำนวนเท่าใด

ในข้อ ๖ จะเป็นการระบุในเรื่องการจัดการน้ำเสียของร้านขายอาหาร โดยวางแนวปฏิบัติไว้ว่า (๑) ต้องมีการระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง และไม่มีเศษอาหารตกค้างในบริเวณสถานที่จำหน่ายอาหาร (๒) ต้องมีการแยกเศษอาหารออกจากภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้ก่อนการทำความสะอาด และ (๓) ต้องมีการแยกไขมันไปกำจัดก่อนระบายน้ำทิ้งออกสู่ระบบระบายน้ำ โดยใช้ถังดักไขมันหรือบ่อดักไขมัน หรือการบำบัดด้วยวิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ส่วนข้อ ๘ เป็นเรื่องใหม่ของหลายๆ ร้าน เมื่อกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ เชื่อว่าจะมีเสียงร้องครางครวญจากคนขายอาหารแน่นอน ข้อ 8 บัญญัติไว้ว่า สถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีมาตรการ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำหรับป้องกันอัคคีภัยจากการใช้เชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ประเด็นนี้ร้านรวงใหญ่ๆ ทุนหนาพอว่า แต่ร้านเล็กๆ ที่มีอยู่มากมายนี่สิต้องเหนื่อยหนัก

ในหมวด ๒ เป็นเรื่อง สุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการทำ ประกอบ หรือปรุง การเก็บรักษา และการจำหน่ายอาหาร ที่สำคัญและน่าจะเป็นประเด็น ข้อ ๑๒ น้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่เป็นอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่ใช้ในสถานที่จำหน่ายอาหารต้องมีคุณภาพและมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร โดยต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่าสิบห้าเซนติเมตร และต้องทำความสะอาดพื้นผิวภายนอกของภาชนะบรรจุให้สะอาดก่อนนำมาให้บริการ
ในกรณีที่เป็นน้ำดื่มที่ไม่ได้เป็นอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทหรือเครื่องดื่มที่ปรุงจำหน่าย ต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาด มีการปกปิด และป้องกันการปนเปื้อน โดยต้องวางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่าหกสิบเซนติเมตร ทั้งนี้น้ำดื่มและน้ำที่ใช้สำหรับปรุงเครื่องดื่มต้องมีคุณภาพไม่ต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภคที่กรมอนามัยกำหนด

อีกเรื่องอยู่ในหมวด ๔ ว่าด้วยเรื่อง สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร
ในข้อ ๒๑ (๒) บัญญัติว่า ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา เรื่องนี้ยังไม่ได้กำหนดว่า…ต้องผ่านการอบรมอะไรบ้าง แต่จะมีประกาศออกมาอย่างแน่นอนไม่เกินกว่าที่บทเฉพาะกาลกำหนดไว้

บทเฉพาะกาล บัญญัติไว้เพียงหนึ่งข้อ สองอนุบัญญัติ เป็นการบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาในการบังคับใช้กฎหมายและบทยกเว้นในบางข้อของกฎกระทรวง โดยบัญญัติว่า ข้อ ๒๒ สถานที่จำหน่ายอาหารที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งอยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ภายในกำหนดเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้
(๑) การดำเนินการตามข้อ ๘ ของสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกินสองร้อยตารางเมตร ให้ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงให้เป็นไปตามข้อ ๘ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และ
(๒) การดำเนินการตามข้อ ๒๑ (๒) ให้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ

แม้ว่ากฎกระทรวงจะไม่มีบกกำหนดโทษ หากไปดูตัวกฎหมายแม่ที่ให้อำนาจในการตรากฎกระทรวงคือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยกฎกระทรวงฉบับนี้อ้างอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕ และมาตรา ๖ ซึ่งบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๘ ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๖ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และมาตรา ๖๘/๑ บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๖ ในกรณีที่เกี่ยวกับมูลฝอยติดเชื้อหรือมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์…หนูณิชย์

(ภาพไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาข่าวที่เป็นประกาศจากราชกิจจานุเบกษา)