วันศุกร์, 13 กันยายน 2567

ซีพีเอฟ หนุนคณะเกษตรฯ มช. ปรับปรุงฟาร์มสุกรพันธุ์ เพื่อการศึกษาและวิจัย

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ส่งมอบโครงการ “ปรับปรุงฟาร์มสุกรพันธุ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เพื่อประโยชน์ในการศึกษา-วิจัย และเป็นแหล่งเรียนรู้ภาคปฏิบัติของนักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ และบุคลากรทางการศึกษา ณ ฟาร์มสุกรพันธุ์ของคณะเกษตรศาสตร์แม่เหียะ

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับซีพีเอฟ ดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านสุกร มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ล่าสุดผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของบริษัทได้ทำการสำรวจในส่วนของฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการแม่เหียะ พบว่าโรงเรือนในโครงการดังกล่าวมีความชำรุดเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอน และฝึกงานแก่นักศึกษาของคณะ มาตั้งแต่ปี 2510 หรือนานกว่า 51 ปีแล้ว ทำให้โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างมีสภาพทรุดโทรมตามอายุการใช้งาน ผู้บริหารของคณะเกษตรศาสตร์จึงเสนอต่อซีพีเอฟเรื่องการปรับปรุงฟาร์มใหม่ที่มีความทันสมัยและได้มาตรฐาน ทั้งวัสดุอุปกรณ์ การให้อาหารอัตโนมัติ รวมถึงการปรับปรุงให้ระบบฟาร์มได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้พร้อมต่อการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน

 

“ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ซีพีเอฟเล็งเห็นความสำคัญของการเรียน การสอน การวิจัย พร้อมให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทุกๆด้าน และขอขอบพระคุณซีพีเอฟที่สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงฟาร์มรวมทั้งอุปกรณ์คอกคลอดสุกร ซึ่งจะก่อประโยชน์แก่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่สามารถเข้าศึกษาเรียนรู้การปฏิบัติงานจริง เพื่อสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับนักศึกษาให้พร้อมกับการทำงานในอนาคตได้อย่างมั่นใจ และจะผลักดันฟาร์มแห่งนี้เป็นต้นแบบด้านการเรียนการสอนและบริการวิชาการของคณะฯต่อไป” รศ.ดร.ณัฐาฯ กล่าว

 

ด้าน นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการศึกษาและวิจัยกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในหลากหลายโครงการ และการสนับสนุนการปรับปรุงฟาร์มสุกรพันธุ์ในครั้งนี้ ซีพีเอฟใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 7,306,175 บาท ในการปรับปรุงโรงเรือนแม่พันธุ์ โรงเรือนสุกรขุน และสำนักงานฟาร์ม รวมถึงขยายความสามารถในการผลิตโดยสร้างโรงเรือนสุกรขุนหลังใหม่เพิ่มอีก 1 หลัง

ขณะที่ บริษัท เค.เอส.พี. อุปกรณ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของซีพีเอฟ สนับสนุนอุปกรณ์คอกคลอดสุกรจำนวน 32 คอก ด้วยงบประมาณ 950,400 บาท เพื่อร่วมกันพัฒนาสถานที่สำหรับเรียนรู้และฝึกฝนการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอยู่ภายในมหาวิทยาลัยให้กับนักศึกษา โดยรูปแบบของโรงเรือนสุกรเป็นรูปแบบเดียวกันกับฟาร์มของซีพีเอฟ ที่ผู้เข้าชมสามารถชมกระบวนการเลี้ยงในโรงเรือนผ่านห้องกระจกโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปภายใน จุดนี้สามารถรองรับการเข้าเยี่ยมชมของบุคคลภายนอก ซึ่งจะทำให้ฟาร์มแห่งนี้สามารถพัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจได้

“โครงการนี้นับเป็นความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคมโดยไม่มีพันธะสัญญาด้านการค้าใดๆ ซีพีเอฟหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฟาร์มสุกรพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงให้พร้อมในทุกๆด้านนี้ จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติและสถานที่ฝึกงานของนักศึกษา อันจะเป็นการปูพื้นฐานอาชีพเมื่อก้าวออกไปประกอบกิจการงานในอนาคต และเป็นประโยชน์ต่อคณะเกษตรศาสตร์สำหรับใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่สอดคล้องกับยุคสมัยและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง” นายสมควรฯ กล่าว