วันจันทร์, 6 พฤษภาคม 2567

เคลื่อนต่อ “Startup” จัดติวเข้มผู้ประกอบการป้ายแดงรุ่น 2 โฟกัส 9 กลุ่มอุตสาหกรรม หวังให้เติบโตอย่างยั่งยืน

วันที่ 20 ก.พ. 61 ที่ Nimman Convention Centre โรงแรมยูนิมมาน จังหวัดเชียงใหม่ นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวโครงการ “Northern Innovative Startup” โดยมีผู้บริหารหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ประกอบการ Startup ร่วมกิจกรรม

นายวิเชียร สุขสร้อย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศและเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นในการเป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior: NEW) โดยกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการเติบโตของอาเซียน ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจที่สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ รวมไปถึงเรื่องมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค รวมทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ

รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผู้รับผิดชอบหลัก โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการ Startup Thailand เพื่อเป็นการระดมผู้ประกอบการรายใหม่ของประเทศให้มารวมตัวกัน พัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ในการสร้างความตระหนักและความตื่นตัว จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ สู่กระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อเร่งพัฒนาธุรกิจสู่ตลาดสากล

“มีการกำหนดประเภทของ Startup ตามกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวน 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ด้านเกษตรและอาหาร (AgriTech/Food Startup) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (HealthTech) ด้านการเงินและการธนาคาร (FinTech) ด้านอุตสาหกรรมการศึกษา (IndustryTech) ด้านการท่องเที่ยว (TravelTech) ด้านไลฟ์สไตล์ (LifeStyle) ด้านพาณิชยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ด้านภาครัฐ/การศึกษา (GovTech/EdTech) และด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropertyTech)” รอง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าว

การจัดงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจสูง แต่ยังขาดการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งภาคเหนือของประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปัจจุบันมี Startup ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 500 ราย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพ (80%) เชียงใหม่ (10%) และภูเก็ต (5%) ตามลำดับ

โครงการ NIST รุ่นที่ 1 มีผู้ประกอบการใหม่ที่เข้าร่วมโครงการในช่วงเริ่มต้นและผ่านกิจกรรมการเฟ้นหาผู้ประกอบการนวัตกรรมใหม่ (3 Days Startup Program) จำนวน 70 บริษัท และถูกคัดเลือกจำนวน 35 บริษัท เพื่อเข้าสู่กิจกรรมหลักสูตรธุรกิจนวัตกรรมสำหรับ Startup (Startup 8 Weeks Coaching Program) การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Bootcamp) และกิจกรรม Feasibility Pitching ซึ่งมีผู้ประกอบการใหม่ที่สามารถพัฒนาแผนธุรกิจและได้รับการสนับสนุนจาก สนช. จำนวน 31 ราย มูลค่าการสนับสนุนรวม 18,596,000 บาท

“เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในการพัฒนาผู้ประกอบการ startup จึงได้ดำเนินกิจกรรม “การสร้างผู้ประกอบการใหม่ในเขตภาคเหนือ รุ่นที่ 2” (Northern Innovative Startup Thailand Batch 2) โดย สนช. มีความคาดหวังของการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ในการสร้างความตระหนักและความตื่นตัว (Awareness) จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) สู่กระบวนการบ่มเพาะและการพัฒนาผู้ประกอบการ (Incubation) โดยมีเป้าหมายสร้างนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Warrior: NEW) จำนวน 240 ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่จะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 1,200 ล้านบาท และเร่งสร้างผู้ประกอบการที่สามารถพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและสังคมฐานความรู้ ภายใน 4 ปี” นายวิเชียร สุขสร้อย รอง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าว