วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

“ปนัดดา” แนะข้าราชการ “เจียมเนื้อเจียมตัว” นิยามศาสตร์แห่งการดำรงชีวิต

18 ก.พ. 2018
2171

วันที่ 17 ก.พ.61 ณ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วังวรดิศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานพิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้การต้อนรับคณะครูอาจารย์ ข้าราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และลูกหลานเยาวชน และได้บรรยายพิเศษแก่คณะผู้มาเยือน โดยมีใจความตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการดำรงชีวิตว่า…..

“ข้าพเจ้าจำได้ตั้งแต่เข้ารับราชการ มีการถกแถลงกันมามากถึงคำพูดนี้ “เจียมเนื้อเจียมตัว” รู้จริงบ้างไม่จริงบ้าง บางคนว่าฟังแล้วเป็นคุณแก่ชีวิตตน บ้างว่าเป็นโทษ แต่ที่ข้าพเจ้าจำได้ พ่อและแม่ ตลอดจนครูอาจารย์เคยสอนแก่ลูกหลานและศิษย์ว่า พฤติกรรมรู้จักการเจียมเนื้อเจียมตัว ถือเป็นการกระทำที่ดีที่สุดก็ว่าได้ มีความงดงามทางความคิดและการกระทำ เป็นความเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของคนในทุกยุคสมัย เพราะการเจียมตนเป็นการไม่เบียดเบียนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นแนวคิดและการกระทำแห่งการหลุดพ้นจากความโลภความหลงความโกรธเคืองแม้แต่ความอิจฉาริษยาผู้อื่น ที่ถือเป็นความทุกข์ยาก ยังผลให้คนๆ นั้นมีความสุข มีความพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เห่อเหิมหลงลืมตัว จนกระทั่งทำอะไรผิดๆ

บางคนเข้าใจผิดไปเอง เข้าใจว่าการเจียมเนื้อเจียมตัว เหมือนกับความหมายของคำว่า “บ่มิไก๊” คือ ไม่มีอะไรดี ทำให้ไม่สามารถเกิดการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายชีวิตได้ ซึ่งก็หาได้เป็นเช่นนั้น คนคิดกันไปเองในเชิงลบเช่นว่า ย่อมถือเป็นภัยแก่ตัว และคงยากลำบากต่อการดำรงชีวิตภายภาคหน้า คนจำพวกชอบดูถูกลบหลู่ผู้อื่น คิดไปเองว่าคนอื่นต่ำต้อย ส่วนตนนั้นสูง คิดอะไรเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นคุณแก่ตนโดยสิ้นเชิง

การเจียมเนื้อเจียมตัว ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พอเพียง สันโดษ ไม่สุดโต่ง ไม่ขี้โม้คุยโว ได้นำพาความสำเร็จในการดำเนินชีวิตที่ดีงามมีคุณภาพ ตลอดจนหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีแก่บุคคลที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิตมาเป็นจำนวนมากมาย ซึ่ง ณ ที่นี้ ครูอาจารย์ชาวตะวันตกหลายท่านเคยกล่าวไว้ว่า การรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว มีความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ การรู้จักตัวเราเอง ไม่แสดงตัวโอ้อวดสรรพคุณตน (Being Modest : not wanting to talk about your abilities or achievements and to say that you are good at something, even when you are)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาพระราชทานสอนแก่ปวงชนชาวไทยเรื่องการมีภูมิคุ้มกัน ศาสตร์แห่งความพอเพียง มีความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาในสิ่งที่ตนมีอยู่ ยึดมั่นความสัตย์ซื่อสุจริตเป็นเกราะกำบังตัวจากความไม่ดี เพื่อให้การดำรงชีวิตมีความเหมาะสมกับสิ่งที่ตนมี ไม่กระทำในสิ่งที่ขัดกับข้อเท็จจริง ไม่หลอกตนเอง ผู้อื่น และไม่เป็นบาป”