วันจันทร์, 11 พฤศจิกายน 2567

เชียงใหม่จัดรำลึกสถาปนากองอาสารักษาดินแดน เบิกตัวผู้บำเพ็ญคุณ 9 รายรับเข็ม อส.สดุดี

วันที่ 10 ก.พ.61 ที่สนามฝึกหน้ากองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1 นายกองเอกปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเนื่องในวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน โดยมี นายกองเอกมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ นำสมาชิกอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่และผู้แทนสมาชิก อส.จาก 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่กว่า 200 นาย ร่วมพิธีโดยจัดแถวเกียรติยศ ปฏิญาณตน และรับฟังสาร โอวามจากผู้บังคับบัญชา

นายกองเอกมนัส ขันใส กล่าวว่า การประกอบพิธีเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดนในวันนี้เป็นวันครบรอบในปีที่ 64 ของการสถาปนา ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการอนุมัติให้มีการสั่งใช้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในอัตราของหน่วยประกอบด้วย 25 กองอาสารักษาดินแดนอำเภอ และ 1 กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัด มีกำลังพลทั้งสิ้น 357 อัตรา โดยมีภารกิจสำคัญ 2 ประการคือ ภารกิจตามกฎหมายกองอาสารักษาดินแดน และภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ รายงานต่ออีกว่า ที่ผ่านมา สมาชิก อส.จ.เชียงใหม่ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่กำหนดโดยมีผลงานปรากฏหลายประการ อาทิ การรักษาความสงบและความปลอดภัยสถานที่ราชการ การปิดล้อมตรวจค้นเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง การจัดระเบียบสังคมโดยร่วมกับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองออกตรวจตราสถานบริการ โรงแรม แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย การกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีผลการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนในการปราบปราม จับกุม ผู้ค้ายาเสพติด รวมทั้งการนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่ระบบการบำบัด ตลอดจนการออกตักทำลายไร่ฝิ่น กัญชา รวมทั้งการหาข่าวในพื้นที่ที่รับผิดชอบด้วย ในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การบูรณะฟื้นฟู ได้ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ สนง.ปภ.เชียงใหม่ ออกช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ รวมทั้งการสร้างบ้านให้แก่ผู้ยากไร้ด้วย นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนงานประเพณีสำคัญๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ในทุกเทศกาลอีกด้วย

ด้านนายกองเอกปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ภารกิจของสมาชิก อส. ก็ปรับเปลี่ยนไปด้วยโดยมุ่งเน้นที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ทั้งเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดระเบียบสังคม การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ รวมทั้งงานสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย

“อยากจะฝากถึงสมาชิก อส.ของเชียงใหม่ทุกนายขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ อดทน และเสียสละ มีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือผู้บังคับบัญชา ปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้บรรลุผลสำเร็จ ที่สำคัญต้องดูแลแก้ไขปัญหาทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็นดังเช่นในอดีตที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา” นายกองเอกปวิณฯ กล่าว

ในแต่ละปีที่ครบรอบเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน ได้มีการคัดเลือกผู้สมควรให้ได้รับเข็มอาสารักษาดินแดนสดุดี ซึ่งกองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนได้จัดสร้างขึ้น เพื่อมอบแก่ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ และสมาชิก อส. ผู้ประกอบคุณงามความดี รวมทั้งผู้มีอุปการคุณแก่กิจการกองอาสารักษาดินแดน เป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติแก่ผู้เสียสละเพื่อประเทศชาติ

ในปี 2561 จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับเข็มอาสารักษาดินแดนสดุดี จำนวน 9 ราย ได้แก่ นายหมวดเอกทศน์พล เอี่ยมโอษฐ์ นายหมวดเอกภูดิส ทิพย์คำ นายหมวดโทจารุนันท์ ศรีวิชัย นายหมวดโทเพิ่มเกียรติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายหมวดโทสาธิต กุหลาบทอง นายหมวดตรีบุรินทร์ ใจจะนะ นายหมวดตรีมีชัย จันทร์กระจ่าง นายหมู่ใหญ่ภาณุพงศ์ ดุริยะนันท์ และนายหมู่ใหญ่มนตรี คำตุ้ย

กองอาสารักษาดินแดน เป็นองค์กรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็น ผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน หลักการสำคัญในการจัดตั้งคือ เพื่อมีกำลังสำรองไว้ช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ ทั้งยามปกติและสงคราม โดยรับสมัครราษฎรที่สมัครใจอาสาเข้ามาเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.)

พัฒนาการของกองอาสารักษาดินแดนสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อน พ.ศ. 2454 สมัยโบราณเมื่อเกิดภาวะสงคราม จะมีราษฎรที่ไม่ใช่ทหารรวมตัวกันต่อสู้กับข้าศึกเพื่อรักษาแผ่นดิน อาทิ สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศึกบางระจัน ชาวบ้านบางระจันที่ไม่ใช่ทหารพยายามต่อสู้กับพม่าจนสิ้นกำลัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 เป็นกองพลอาสาสมัครเพื่ออบรมข้าราชการและประชาชนให้รู้จักรักชาติ รู้จักหน้าที่ในการป้องกันรักษาประเทศชาติ

ระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2454-2497 มีความพยายามที่จัดตั้งหน่วยพลเรือนอาสาขึ้นให้เป็นระบบ ทั้งในยามปกติและสงคราม มีการนำแนวคิดจากต่างประเทศมาใช้หลังจากมีการจัดตั้งกองเสือป่าขึ้น สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายก รัฐมนตรี ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ พ.ศ. ๒๔๘๑ และพระราชบัญญัติให้อำนาจในการเตรียมการป้องกันประเทศ พ.ศ. ๒๔๘๔ ขึ้น เพื่อฝึกอบรมคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการที่จะป้องกันรักษาประเทศชาติในเวลาสงคราม โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ

ระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2497 – ปัจจุบัน มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2497 ทำให้การดำเนินการด้านพลเรือนอาสา มีรูปแบบและระบบที่ชัดเจน ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน และได้มีการกำหนดให้ในทุกวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จึงเป็นวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน