วันศุกร์, 26 กรกฎาคม 2567

กฎหมายน้ำเปิดรับฟังอีก2สัปดาห์ ก่อนจะฟันธง21 ก.พ.นี้ที่กรมชล ส่วนเก็บค่าใช้น้ำ กรธ. ชิ่ง โยนให้ สนทช. เคาะเอง

06 ก.พ. 2018
2128

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.30 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …. นำโดย พลเอก อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่า ขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งฉบับเรียบร้อยแล้ว โดยได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังที่ได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ และเครือข่ายภาคประชาชน รวม 6 ครั้ง จำนวน 50 จังหวัด 17 ลุ่มน้ำ มีผู้ร่วมรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 1,582 คน

สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ได้มีการปรับแก้ไขประมาณ 60% อาทิ การกำหนดให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ การแก้ไขโครงสร้างขององค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่วนประเด็นการแบ่งประเภทการใช้น้ำนั้นได้แบ่งเป็น 3 ประเภทตามร่างเดิมที่เสนอมา ซึ่ง กมธ. เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องให้ระยะเวลาสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ซึ่งจัดตั้งโดยคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 46/2560 ไปดำเนินการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ในการจัดเก็บค่าใช้น้ำเพื่อให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้วจะสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ กมธ.จึงได้กำหนดแผนรับฟังความคิดเห็น โดยระหว่างวันที่ 6 – 20 ก.พ. นี้จะเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ผ่านทางเว็บไซต์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเว็บไซต์ของกมธ. จากนั้น จะนำมาวิเคราะห์และเผยแพร่ผลการวิเคราะห์ผ่านทางเว็บไซต์อีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ. – 14 มี.ค. 2561

ขณะเดียวกัน จะประสานกระทรวงมหาดไทยให้แต่ละจังหวัดนำแบบสอบถามไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยให้ส่งกลับมาภายในวันที่ 20 ก.พ. นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดสัมมนาในวันที่ 21 ก.พ. ระหว่างเวลา 08.30-16.00 นาฬิกา ณ กรมชลประทาน โดยเชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 42 หน่วยงาน ผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ มาร่วมการสัมมนา

หลังจากนั้น กมธ. จะส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้วไปยังรัฐบาลเพื่อให้ความเห็นในการขอแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนเมษายน 2561 ทั้งนี้ กมธ. ขอยืนยันว่า ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ด้วยความรอบคอบเพื่อไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง หากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้วจะถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 258 ช. ด้านอื่นๆ (1) ที่ได้บัญญัติไว้ว่า ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน

ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการ  : http://www.senate.go.th/w3c/senate/secretariat.php?url=content&id=859