วันพุธ, 11 กันยายน 2567

เชียงใหม่เปิดศูนย์รับมือไฟป่า เคาะช่วงห้ามเผา 1 มี.ค. ถึง 20 เม.ย.61 เน้นลุยถึงหมู่บ้านเผาซ้ำซาก ต้องลดทุกเรื่องเกี่ยวกับการเผา

28 ธ.ค. 2017
3466

เชียงใหม่เปิดศูนย์สั่งการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันแล้ว พร้อมเคาะวันห้ามเผาเด็ดขาดปีนี้กำหนดเพียง 51 วัน เริ่ม 1 มี.ค. สิ้นสุด 20 เม.ย.61 ถกกันหนักทั้งการจัดการเชื้อเพลิงในป่าไม่ทันกับการเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเกษตรเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดวันห้ามเผา พ่อเมืองตั้งโจทย์ 4 ข้อให้ทุกหน่วยนำไปปฏิบัติ พื้นที่เผาไหม้ จำนวนจุด Hot Spot ค่า PM10 ต้องลด พร้อมทั้งทุกเที่ยวบินต้องขึ้นลงได้ตามปกติ สั่งแล้วทุกอำเภอให้โฟกัสไปที่หมู่บ้านตำบลที่เกิดไฟ อำเภอต้องมีแผนจัดการชัดในพื้นที่เผาซ้ำซาก หากเกิดไฟจังหวัดจะลงตรงไปยังพื้นที่ประชุมหาแนวทางแก้ไขร่วมกับคนในชุมชน

วันที่ 27 ธ.ค.60 ที่ห้องศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 1 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าศูนย์อำนวยการสั่งการฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชุมคณะทำงานและเปิดศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 พร้อมกันนี้ได้ประชุมผ่านวีดิโอทางไกลไปยังทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายชานนท์ คำทอง ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ หรือ ทสจ.เชียงใหม่ นายไพรินทร์ ลิ่มเจริญ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงใหม่ หรือ ปภ.เชียงใหม่ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานร่วมให้ข้อมูลต่อที่ประชุม

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกของคณะทำงานศูนย์อำนวยการสั่งการฯ ซึ่งมีวาระสำคัญคือการเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการโดย นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกล่าวกับที่ประชุมคณะทำงานฯ ว่า ปัญหาหมอกควันไฟป่าขณะนี้กลายเป็นปัญหาร่วมของกลุ่มประเทศอาเซียนไปแล้วซึ่งมีการหารือในการที่จะดำเนินการป้องกันแก้ไขไปในทิศทางเดียวกันในระดับประเทศไปแล้ว ส่วนของจังหวัดเชียงใหม่สำหรับปีนี้โจทย์มีอยู่ 4 ข้อ ข้อแรกการเกิดไฟที่ก่อให้เกิดพื้นที่เผาไหม้ลดลงจากปีที่ผ่านมา ปีที่แล้ว 8 แสนกว่าไร่เศษซึ่งลดจากปีก่อนหน้านั้นที่เกิดพื้นที่เผ่าไหม้ 1.2 ล้านไร่

ข้อที่ 2 เรื่องจำนวน Hot Spot ซึ่งจะวัดอยู่ 2 ช่วงเวลาในช่วงการห้ามเผาเด็ดขาด ข้อที่ 3 ค่าคุณภาพอากาศ ที่เรียกกันว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือค่า PM10 ลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งจำนวนวันที่ค่าเกินกว่ามาตรฐานน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และข้อสุดท้ายซึ่งเป็นโจทย์ของทั้งเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนคือการเดินทางของเครื่องบินจะสามารถขึ้นลงได้ตามปกติ โดยไม่มีเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกด้วยปัญหาหมอกควัน

ทั้งนี้มีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาของคณะทำงานฯ 5 วาระ โดยมีวาระสำคัญคือแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์อำนวยการสั่งการฯ และการพิจารณากำหนดช่วง 60 วันแห่งการห้ามเผาเด็ดขาด ในประเด็นแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์อำนวยการสั่งการฯ นายสมคิด ปัญญาดี ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สนง.ทสจ.เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจาก นายชานนท์ คำทอง ทสจ.เชียงใหม่ แจงต่อที่ประชุมว่า แผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขหมอกควันและไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่ในปีงบประมาณ 2561 แบ่งได้เป็น 3 มาตรการหลัก

ประกอบด้วย มาตรการเตรียมการและป้องกัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมต่างๆ กว่า 24 แนวทาง เพื่อตอบสนองมาตรการได้แก่ การจัดทำประกาศจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับประชำชนได้ทราบโดยทั่วกันถึงระเบียบข้อบังคับกฎหมายและมาตรการการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า การจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควัน การจัดตั้งศูนย์อำนวยการสั่งการฯ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ให้ทุกอำเภอในท้องที่ดำเนินการสำรวจและกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า จัดทำทะเบียนผู้มีอาชีพเข้าป่าหาของป่า รวมทั้งการลดเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าหรือการชิงเผาตามหลักวิชาการ และการจัดทำแนวกันไฟซึ่งปีนี้กำหนดให้แนวกันไฟควรที่จะมีความกว้างอย่างน้อย 8 เมตร เป็นต้น

“มาตรการที่ 2 คือ ระยะรับมือ หรือช่วงการห้ามเผาเด็ดขาด ซึ่งจะร่วมกันพิจารณากำหนดวันในการประชุมครั้งนี้ ในส่วนกิจกรรมหรือแนวทางที่จะมาสนับสนุนมาตรการนี้ ได้แก่ การจัดกำลังเพื่อการลาดตระเวรและควบคุมไฟป่า การเข้าระงับเหตุการณ์เมื่อเกิดการเผาในพื้นที่ต่างๆ โดยแยกเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร พื้นที่เขตทาง และพื้นที่ในชุมชน ส่วนมาตรการที่ 3 คือ ระยะสร้างความยั่งยืน มีกิจกรรมได้แก่ การจัดทำตารางการเผาในพื้นที่การเกษตร การทำแนวกันไฟในป่าเปียก การทำฝายชะลอน้ำ การปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวโพด เป็นต้น” ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม แจง

ทั้งนี้ในวาระการพิจารณาการกำหนดช่วงเวลาแห่งการห้ามเผา ในที่ประชุมมีการถกกันอย่างกว้างขวาง โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันให้เลื่อนวันห้ามการเผาเด็ดขาดออกไปจากเดิมที่เคยประกาศในปีที่ผ่านมาและเป็นกรอบช่วงเวลาที่นำมาพิจารณาในปีนี้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่มีระยะเวลายาวนานขึ้นกว่าเดิมทั้งช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวในปีนี่ที่คาดว่าจะยาวนานถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2561

ประกอบกับการดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าหรือการชิงเผายังไม่อาจดำเนินการได้และคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ทันกับช่วงเวลาที่จะมีการประกาศ โดยที่ประชุมได้มีการเสนอช่วงเวลาห้ามเผาในครั้งแรกให้เป็นช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2561 ทั้งนี้ได้นำข้อกังวลเกี่ยวกับการเตรียมพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกของเกษตรกรในฤดูการผลิตปี 2561 มาพิจารณาแล้วคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรได้

เนื่องจากต้องเตรียมพื้นที่การเกษตรในช่วงปลายเดือนเมษายนเพื่อจะให้ทันต่อช่วงต้นฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ที่สุดที่ประชุมคณะทำงานฯ มีมติให้ประกาศช่วงเวลาแห่งการห้ามเผาเด็ดขาดของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2561 ถึงวันที่ 20 เมษายน 2561 รวมระยะเวลา 51 วัน

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า พื้นที่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือพื้นที่ที่เกิดการไหม้ซ้ำซากในทุกปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้นายอำเภอทุกอำเภอต้องมีแผนเข้าไปจัดการที่ชัดเจน ปีนี้การจัดการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันได้รับการมอบหมายให้เป็นงานของกระทรวงมหาดไทยภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในส่วนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ซึ่งมีบทบาทในการใช้กฎหมายนี้ต้องมาร่วมการทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม

“สำหรับพื้นที่การเกษตรมีพื้นที่อยู่ในเขตป่าตามมติ ครม.ปี 2541 ขอให้ให้หน่วยงานเกษตรทุกอำเภอเข้าไปดูแลด้วย ไม่ใช่ปล่อยเป็นงานเฉพาะป่าไม้หรืออุทยานเท่านั้น ต้องมองให้เป็นพื้นที่ประกอบอาชีพของเกษตรกร โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกษตรทำในแต่ละช่วงตลอดทั้งปีเพื่อมากำหนดเป็นแผนจัดการร่วมด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีมากกว่า 1 ล้านไร่” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า จุดที่อยากจะเน้นย้ำตามที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญย้ำมาเพื่อดำเนินการคือ จุดแตกหักซึ่งจะอยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน เพราะฉะนั้นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่พื้นที่หมู่บ้านมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง บทบาทของทุกอำเภอที่สำคัญคือการทำอย่างไรให้ทุกหมู่บ้านมีการเฝ้าระวังการเผา หรือร่วมมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาให้มาก

หลายหมู่บ้านตำบลกำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ มีบทบาทสำคัญในการนำมาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นมาตรการทางสังคมที่ชาวบ้านให้การยอมรับเข้ามาใช้ในการแก้ไขป้องกันปัญหาไฟป่าหมอกควัน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในชุมชนหมู่บ้านมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอำเภอต้องไปดูในเรื่องความเชื่อของแต่ละหมู่บ้านตำบลที่มีผลต่อประชาชนสูงกว่ากฎหมายให้ใช้ประเด็นนั้นมาเป็นมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน

“ปีนี้ในส่วนของจังหวัดแนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุจะเข้าไปในพื้นที่โดยตรง คงจะไม่เชิญมาประชุมที่อำเภอ แต่จะลงไปในพื้นที่เพื่อให้รู้ให้ชัดว่าปัญหาของพื้นที่คืออะไร ฝากแนวปฏิบัติไปยังทุกอำเภอว่า ปีนี้จะไม่พูดกันบนอำเภอ แต่จะไปพูดกันในพื้นที่หมู่บ้านที่เกิดเหตุพื้นที่ที่ทำงาน เพื่อระดมความเห็นของคนในหมู่บ้านตำบลด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไรบ้างที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนร่วมกัน ส่วนการทำความเข้าใจกับประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้ดูความเหมาะสมในแต่ละเรื่องที่จะนำไปพูดทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าเขาได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง” นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว