วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

ดึงเทคโนฯญี่ปุ่นจัดการขยะ ถกรอบ 2 ตั้งเป้าเชียงใหม่ Eco-Town 16 อปท.รับลูกนำร่องเคลื่อน “กำจัดขยะในใจคน”

13 ธ.ค. 2017
2135

เชียงใหม่ขยับก้าวที่ 2 จัดการขยะแบบครบวงจรเพื่อมุ่งสู่เชียงใหม่ Eco-Town โดยนำเทคโนโลยีญี่ปุ่นมาใช้ กิจกรรมแรกเร่งสร้างวินัยให้เกิดแก่ประชาชนเพื่อลดปริมาณของเสียให้ได้ตั้งแต่ต้นทาง อปท. 16 แห่งเด้งรับลูกร่วมโครงการ หวังได้แนวทางและแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมไปใช้จริงได้ในพื้นที่ ตั้งเป้าหรู ปี 2562 เชียงใหม่จัดการขยะของเสียอันตรายได้ตามหลักวิชาการ พร้อมเสนอโมเดลให้ปรับทั้งระบบทั้งแก้กฎหมายและเข้มการบังคับใช้ รองพ่อเมืองฟันธงคนญี่ปุ่นมีวินัยสูงกว่าเทคโนโลยีการจัดการขยะจึงสำเร็จสูง จี้กำจัดขยะในใจคนให้ได้เป็นอันดับแรก

วันที่ 12 ธ.ค.60 ที่ห้องทิพย์พิมาน โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การบริหารจัดการขยะในจังหวัดเชียงใหม่แบบครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เชียงใหม่ Eco-Town ครั้งที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย และ เทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นายชานนท์ คำทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ หรือ ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวรายงาน โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องของจังหวัดเชียงใหม่ 16 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา

นายชานนท์ คำทอง ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับเทศบาลเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งการระดมความคิดวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรค ปัจจัยความสำเร็จ ของการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกันนี้ยังจะร่วมกันสรรหาวิธีการหรือแนวทางในดารบริหารจัดการขยะที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพและยั่งยืนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องทั้ง 16 แห่ง ซึ่งท้องถิ่นในแต่ละแห่งก็จะใช้วิธีบริหารจัดการขยะที่แตกต่างกัน เนื่องจากท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทั้งในมติเชิงพื้นที่และมิติประชาชน โดยการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องของจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 16 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลตำบลบ้านหลวง เทศบาลตำบลเมืองงาย เทศบาลตำบลอินทขิล เทศบาลเมืองแม่โจ้ เทศบาลตำบลยุหว่า เทศบาลตำบลท่าศาลา เทศบาลตำบลสะเมิงใต้ เทศบาลตำบลแม่แรม เทศบาลตำบลเวียงฝาง เทศบาลตำบลเวียงพร้าว เทศบาลตำบลแม่แฝก เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว และองค์การบริหารส่วนตำบลกื๊ดช้าง

ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะนั้นต้องทำในทุกขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะต้นน้ำซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของขยะการคัดแยกขยะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันในการสร้างวินัยในเกิดขึ้น เมื่อคนมีวินัยในการคัดแยกการจัดการต่อทั้งกลางน้ำจนถึงปลายน้ำจะง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ดีมากกว่าคือ ชาวญี่ปุ่นมีวินัยที่ดีมาก โดยเฉพาะวินัยในเรื่องการทิ้งขยะไม่มีการทิ้งเรี่ยราดและร่วมกันจัดการขยะตั้งแต่ในครัวเรือนหรือต้นทาง

“ต้องขอบคุณทั้ง 16 อปท. ที่เข้ามาร่วมนำร่องในการจัดการขยะตามโครงการนี้ ซึ่งก็ต้องเริ่มการดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมในทุกกลุ่ม การสร้างวินัยในการคัดแยกขยะให้เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านชุมชน ที่สำคัญคือคนของเราและพลเมืองของเราที่จะต้องสร้างวินัยให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นหมายความว่าเรื่องสำคัญก็คือ การกำจัดขยะในใจคนให้ได้เป็นลำดับแรกนั่นเอง เมื่อคนมีวินัยการทำอะไรต่อจากนั้นเป็นเรื่องง่ายในทุกขั้นตอน ก็ฝากความหวังไว้กับทั้ง 16 อปท.นำร่องนี้เพื่อที่จะขยาดไปสู่ อปท. อื่นๆ ต่อไป ซึ่งทุกแห่งก็ต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาอุปสรรคอีกมากมายหลายประการ” รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายชานนท์ คำทอง ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า แนวทางและแผนปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่การเป็น “เชียงใหม Eco-Town” ตามผ่านความร่วมมือนี้มีเป้าหมายในการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดเชียงใหม่ เน้นการให้ความสำคัญระหว่างการพัฒนาควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2562 จังหวัดเชียงใหม่จะมีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอย่างถูกหลักวิชาการ พัฒนาแปรรูปขยะให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในการสัมมนาได้เสนอโมเดลในการบริหารจัดการขยะ น้ำเสีย ให้มีประสิทธิภาพในลักษณะการดำเนินการเป็นภาพรวมทั้งประเทศโดยเสนอความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมในการจัดการมูลฝอยในระดับต่างๆ โดยระดับประเทศ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรที่จะแก้ไขกฎหมายและออกประกาศต่างๆ มาบังคับใช้ให้เหมาะสม กรมควบคุมมลพิษดำเนินการพัฒนาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมูลฝอยในทุกมิติ กระทรวงพลังงานมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงาน

โดยมีเป้าหมายแห่งชาติในการจัดการของเสียควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงาน โดยในระดับจังหวัดเชียงใหม่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการต่างๆ อาทิ การสร้างความตระหนักในเกิดแก่ประชาชน เพื่อการลดลงของของเสีย การสร้างขีดความสามารถในการวางแผนและการจัดการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็นเมืองสะอาด โครงการ 3Rs เพื่อเป้าหมายการเป็นเมืองสีเขียว และการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะที่เหมาะสบ เพื่อหาระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่