วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

แผนรับมือไฟป่า 61 ยังให้มหาดไทยเป็นหลัก เข้มในทุกพื้นที่เผา รมว.ทส.สั่งเกิดไฟที่ไหนประชุมที่นั่น ย้ำ!! จะชนะต้องแตกหักในพื้นที่

09 ธ.ค. 2017
2719

เคาะแล้ว!! แผนจัดการไฟป่าหมอกควันประจำปี 2561 ใช้แผนเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ยังให้คนมหาดไทยเป็นหลัก คาดปีนี้จะดีกว่าปีที่ผ่านพร้อมทั้งแผนทั้งกำลังพลและเครื่องมือ สั่งทุกจังหวัดกำหนดเอง 60 วันแห่งการห้ามเผาพร้อมแผนยืดเวลา จี้ให้จัดวอร์รูมลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เน้นพื้นที่เผาซ้ำซาก ย้ำจะชนะต้องแตกหักในระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชน ยาหอมเชื่อทุกจังหวัดสามารถผ่านไปได้ด้วยดี การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มจะไม่เกิดหากไม่เหลืออด

วันที่ 9 ธ.ค.60 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ รมว.ทส. เป็นประธานการประชุมเพื่อมอบนโยบายในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ประจำปี 2561 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด กองทัพภาคที่ 3 ผอ.ทสจ. ปภ.ศูนย์ ปภ.จังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพย์ฯ ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ

ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และ ตาก เข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอแผนการรับมือไฟป่าหมอกควันและรับนโยบายเพื่อนไปสู่การปฏิบัติ พร้อมกันนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น จิสด้า เข้าให้ข้อมูลเพื่อการวางแผนปฏิบัติงาน ทั้งนี้ในช่วงบ่ายวันเดียวกันได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดกิจกรรม “คิ๊กอ๊อฟ” การเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จ.ลำปาง พร้อมมอบอุปกรณ์ผจญไฟป่าให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อการออกปฏิบัติการ

หลังจากการประชุมฯ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าภาคเหนือ ปี 2561 ว่า ในที่ผ่านมาหลักคือกระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ควบคุมพื้นที่ค่อนข้างเข้มข้น แล้วเสริมด้วยการปฏิบัติของคนของกระทรวงทรัพย์ฯ ป่าไม้ อุทยาน และเสริมเพิ่มด้วยคนของกองทัพ ตำรวจ ทำให้คนที่เข้าไปจุดไฟในป่าลดน้อยลง แต่ใครยังฝืนจัดก็บังคับใช้กฎหมาย โดยภาพรวมในปีที่ผ่านมาการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ทำให้สถานการณ์ดีมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้น

“สำหรับปีนี้ยังจะคงมาตรการเดิมเช่นปีที่ผ่านมาไว้ และจะเพิ่มเรื่องการเสริมสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเริ่มไปแล้วในทุกจังหวัด โดยสร้างจิตสำนึกในเรื่องการเผาป่านั้นไม่ดี สร้างปัญหาให้แก่ผู้คนเป็นจำนวนมาก อีกประการที่เสริมก็คือ มาตรการด้านการเกษตร มีการกำจัดวัชพืชโดยใช้วิธีการทำเป็นปุ๋ย โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปส่งเสริม ตรงนี้เชื้อเพลิงก็จะลดไปเป็นปุ๋ย ซึ่งจะลดไปส่วนหนึ่งที่ไม่ต้องเผา” รมว.ทส. กล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมจากมาตรการต่างๆ ที่พูดคุยกันในวันนี้ก็น่าจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าหมอกปัญหาก็น่าจะลดลงจากปีที่ผ่านมาอีก หากปีนี้ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 ก็น่าจะดี หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น ในปีนี้มีทั้งภาพถ่ายดาวเทียม และโดยความสามารถ โดยเครื่องมือ สรรพกำลังต่างๆ รวมทั้งแผนที่วางไว้ ก็น่าจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังมีข้อน่ากังวลคือสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าฝนมาเร็วก็โชคดี หากเกิดแห้งแล้งยาวนานก็ต้องมีมาตรการเฉพาะเพิ่มเข้ามา จะขยายวัน 60 วันแห่งการห้ามเผาออกไปก็แล้วแต่ละจังหวัดจะมีมาตรการเพิ่มเป็นประการใด

รมว.ทส. กล่าวอีกว่า จากการคำนวณของจิสด้า ตั้งหลักไว้ว่า 60 วันอันตราย แต่พบว่าพี่น้องเกษตรกรก็ต้องทำการเกษตรด้วย แต่ละจังหวัดก็ต้องไปลงในรายละเอียดในส่วนจังหวัดของตน จะขยับเวลาเลื่อนเข้าเลื่อนออกอย่างไร แต่ละจังหวัดอาจจำเป็นระยะเวลาการห้ามเผาอาจไม่เท่ากัน เพราะพื้นที่และความแห้งแล้งที่แตกต่างกัน โดยจากบทเรียนเมื่อปี 2559 เมื่อพ้น 60 วันแห่งการห้ามเผาที่มีการควบคุมได้เป็นอย่างดี พอพ้น 60 วันเพียงวันเดียวก็มีการเผาอย่างมโหฬาร ในปี 2559 เป็นปีที่ฤดูแล้งมีความยาวนาน จึงส่งให้หลัง 60 วันแห่งการห้ามเผาจึงเกิดสถานการณ์ขึ้นอย่างรุนแรง ปีนี้ทุกจัดหวัดต้องเตรียมการยึดเวลาไว้ด้วย 60 วันบวกลบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต้องเข้าใจร่วมกัน

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ นายชานนท์ คำทอง ผอ.ทสจ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกี่ยวกับการกำหนดวันในช่วง 60 วันแห่งการห้ามเผาจะได้มีการหารือร่วมกับ ทสจ.อีกทั้ง 8 จังหวัด อีกครั้ง จากนั้นก็จะเป็นการประชุมศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันเพื่อกำหนดวันช่วงการห้ามเผาอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่จะต้องได้ข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาภาคเหนือมาประกอบ และช่วงวันจะต้องไม่แตกต่างหรือห่างจากจังหวัดอีกทั้ง 8 จังหวัดด้วย

ต่อคำถามที่ว่า ทั้ง 9 จังหวัดน่าห่วงจังหวัดไหนมากที่สุด พล.อ.สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า เมื่อก่อนห่วงจังหวัดน่าน ปีที่แล้วน่านก็จัดการได้ดี ก็แสดงว่าถ้าเจ้าหน้าที่ร่วมมือกัน พี่น้องประชาชนจริงจัง ก็จะแก้ปัญหาได้ ปีก่อนหน้านั้นทั้งน่านและเชียงใหม่ปัญหาหนักมาก แต่พอปีที่ผ่านมาทั้งน่านและเชียงใหม่จัดการได้ดี สถานการณ์ดีขึ้นทั้ง 2 จังหวัด สำหรับปีนี้ทุกจังหวัดน่าจะผ่านไปได้ดี ทั้งข้อมูล ทั้งสรรพกำลัง และเครื่องมือ มีพร้อมอยู่แล้ว

“ส่วนมาตรการการบังคับใช้กฎหมายโดยหลักแล้วไม่อยากให้พี่น้องประชาชนต้องมาติดคุกเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากแต่มีการกระทำผิดจริงโดยนอกเหนือการควบคุม ก็จำเป็นที่ต้องใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่เพื่อส่วนรวมก็จำเป็นที่ต้องทำ สำหรับปีนี้ยังไม่มีการจับกุมเพราะเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มสถานการณ์ โดยหลักแล้วหากเป็นไปได้ก็ไม่อยากจับใครในเรื่องนี้” รมว.ทส. กล่าว

“เนื่องจากหมอกควันอาจข้ามแดนได้ เราชอบพูดว่า หมอกควันจาเพื่อนบ้านข้ามแดนเข้ามาในพื้นที่ของเรา แต่จริงหมอกควันเราก็ไปของเขาเหมือนกัน ทางเดียวที่จะดำเนินการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพได้ ก็ต้องร่วมมือกันในความเป็นอาเซียนต้องเป็นหนึ่ง มีไทย เมียนมา ลาว ในช่วงเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ก็จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมกัน โดยใช้จักรยานเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ร่วมกัน ทั้ง 3 ประเทศจะต้องพยายามควบคุมไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ของตนไม่ให้พัดไปยังเพื่อนบ้าน และถ้ามีการขอความร่วมมือด้านวิชาการเราก็จะช่วยเขา” รมว.ทส. กล่าว

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทส. กล่าวอีกว่า หลักการทำงานในการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันก็คือ ไม่ให้ไฟเกิด หากว่าไฟเก็ดก็ต้องดับให้ได้ในเวลาที่รวดเร็วที่สุด ฉะนั้นวอร์รูมที่มีในวันนี้เป็นวอร์รูมอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด อยู่ที่ว่าการอำเภอ แต่ไฟเกิดในหมู่บ้าน การจะรับชนะแตกหักในเรื่องไฟป่าต้องชนะกันที่หมู่บ้าน หากไฟเกิดแล้วดับได้ทุกชีวิตทั้งคนทั้งสัตว์ป่าก็จะได้รับผลกระทบน้อย หากว่าเกิดขึ้นแล้วยืดเยื้อยาวนานก็จะมีผลกระทบมาก ดังนั้นวอร์รูมต้องไปอยู่ที่หมู่บ้านหรือชุมชนที่เกิดไฟ โดยเฉพาะพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก ซึ่งทุกจังหวัดมีข้อมูลอยู่แล้ว

สำหรับสถานการณ์หมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม ระหว่างปี 2556 – 2560 พบปริมาณฝุ่นละอองเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดเท่ากับ 428, 324, 381, 317, และ 237 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ เมื่อพิจารณาจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ปี 2556 – 2560 พบว่าในแต่ละปีมีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 46, 48, 42, 61 และ 38 วัน ตามลำดับ และจากการเปรียบเทียบข้อมูลจุดความร้อนสะสมรายจังหวัด ปี 2556 – 2560 พบจำนวนจุดความร้อน 12,117 จุด 12,223 จุด 9,987 จุด 10,133 จุด และ 5,418 จุดตามลำดับซึ่งเห็นว่าทั้งฝุ่นละอองเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และปริมาณจุดความร้อนมีจำนวนลดลง