วันพฤหัสบดี, 12 กันยายน 2567

“หมาก” ยังไม่ตาย คนเมืองป้าวยังมีปีนต้นหมาก ผลิตหมากแห้งขาย โกยเงินกว่า 8 หมื่นต่อเดือน

หลายท่านคงจะรู้จักหมากพลู ที่ผู้เฒ่า ผู้แก่ ชอบเคี้ยวกัน กว่าจะได้หมากแห้งที่ขายเป็นเส้นๆ นั้นไม่ง่ายเลยเนื่องจากลูกหมากอยู่บนต้น ต้นหมากแต่ละต้นค่อนข้างสูง วันนี้จะพาไปดู ชาวบ้านในอำเภอพร้าว ที่อาศัยความชำนาญเฉพาะตัวในการปีนต้นหมากเก็บลูกหมากนำมาผ่า เสียบ ก่อนจะนำไปตากแห้งขายสร้างรายได้เดือนล่ะ 8 หมื่นบาท

เจ้าตัวเผยถึงแม้ว่าสมัยนี้คนจะไม่นิยมเคี้ยวหมาก แต่ตลาดยังมีความต้องการสูงเนื่องจากชาวบ้านยังนิยมนำไปเป็นส่วนประกอบในพิธีงานมงคลต่างๆ เช่น สืบชะตา ทำบุญบ้าน ใช้ประกอบขันตั้งบูชาครูแบบล้านนา โดยแต่ล่ะปีสามารถทำหมากขายได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น

ชาวบ้านคนดังกล่าวนามว่า ก๋องคำ จมฟอง หรือ “พี่อ้าย” อายุ 47 ปี ชาวบ้านป่าไหน่ ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ กับ “น้องแน็ก” ลูกชาย จะใช้เวลาวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ออกเก็บลูกหมากที่ซื้อเหมาจากชาวบ้าน โดยก่อนพี่อ้ายจะปีนต้นหมากต้องสวมรองเท้าผ้าใบและใช้เชือกผูกไว้กับข้อเท้าทั้งสองข้าง จากนั้นค่อยใช้ฝ่าเท้าหนีบต้นหมากปีนขึ้นไปจนถึงทะลายหมาก และใช้เชือกผูกไว้กับไหล่ ให้ลูกชายถือปลายเชือกไว้ก่อนจะแขวนทะลายหมากรูดลงมากับเชือกลงมาให้ลูกชายกองไว้ จากนั้นก็จะช่วยกันเก็บลูกหมากกลับบ้าน

ขบวนการเริ่มต้นที่บ้านคือ การคัดแยก เป็นการคันระหว่าง หมากแก่ กะ หมากอ่อน หลังจากนั้นก็จะผ่าลูกหมากแบ่งประมาณ 5-6 กลีบต่อลูก เสร็จแล้วก็จะจ้างชาวบ้านและผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เสียบลูกหมากโดยร้อยกับเชือกป่านมีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ตรงนี้แต่ละเส้นจะใช้ลูกหมากประมาณ 5-6 ลูก (แล้วแต่ขนาด) โดยมีค่าตอบแทนให้ เส้นละ 1 บาท

จากนั้นก็จะรวบหมากมัดรวมกัน มัดละ 10 เส้น ซึ่งเรียกกันว่า 1 หัว หลังจากนั้นจึงนำหมากไปตากแดดประมาณ 3-5 แดด บางส่วนจะนำไปอบกับเตาถ่านใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ก็จะได้หมากที่แห้ง นำหมาก 10 หัวมารวมกันใส่ถุงเป็น 1 มัด ซึ่งจะมีหมากอยู่ 100 เส้น ก็นำออกจำหน่ายให้ลูกค้า หมาก 1 มัดที่ว่านี้ ราคาจะอยู่ที่ 800-900 บาท แล้วแต่ขนาดและราคาในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งในแต่ละเดือนจะทำหมากแห้งขายได้เฉลี่ย 100 มัด สร้างรายได้ 8 หมื่น ถึง 9 หมื่นบาท โดยมีต้นทุนการผลิตหมากทั้งหมดอยู่ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อเดือน

ก๋องคำ จมฟอง เผยว่า ตนเริ่มปีนต้นหมากเก็บลูกหมากมาขายเมื่อ 15 ปีก่อน หลังที่ช่วยคุณพ่อเก็บลูกหมากขาย ต่อมาอายุมากขึ้นพ่อปีนต้นหมากไม่ไหว ตนจึงสืบสานอาชีพนี้ต่อ โดยในแต่ละปีจะสามารถเก็บลูกหมากได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่ลูกหมากแก่ได้ที่ หลังจากนั้นลูกหมากจะอ่อน ส่วนความยากง่ายในการทำหมากแห้งนั้นอยู่ที่ การใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการปันต้นหมาก

เนื่องจากต้นหมากบางต้นมีความสูงถึง 20 เมตร และบางครั้งต้นหมากจะอยู่ติดกันเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการขึ้นลง ตนจะขึ้นจากต้นแรก และใช้มีดตัดทะลายหมากส่งให้กับลูกชายที่อยู่ด้านล่าง เมื่อเก็บหมากต้นแรกจนหมดตนก็จะกระโดดข้ามไปเก็บลูกหมากต้นอื่นจนหมด ก่อนจะลงไปขึ้นต้นหมากที่จุดอื่น ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง กว่าจะเก็บลูกหมากหมดตอนขึ้นหมากครั้งแรกก็รู้สึกเมื่อยขาอยู่เหมือนกันแต่หลังจากทำนานๆ เข้า ก็รู้สึกชิน

“พี่อ้าย” ยังบอกอีกว่า ถึงแม้ว่าความนิยมในการเคี้ยวหมากจะลดลง เนื่องจากปัจจุบันชาวบ้านไม่นิยมเคี้ยวหมากแล้วก็ตาม แต่หมากก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่ซื้อหาหมากจะนำไปเป็นส่วนประกอบในพิธีงานมงคลต่างๆ อาทิ การสืบชะตา ทำบุญบ้าน ใช้ประกอบขันบูชาครูแบบล้านนา แต่การเคี้ยวหมากใช่จะหมดไปเสียทีเดียว ยังมีชาวเขาบางส่วนที่ยังนิยมเคี้ยวหมากอยู่ ทำให้ความต้องการหมากแห้งยังมีมาก

บางปีลูกหมากมีน้อยทำให้หมากแห้งขาดตลาด ราคาพุ่งสูงถึงเส้นล่ะ 1,000 ถึง 1,200 บาทเลยทีเดียว สำหรับหมากแห้งที่ทำเสร็จแล้วจะใส่ถุงพร้อมขาย ซึ่งจะมีพ่อค้าจากต่างอำเภอมาซื้อถึงที่ หากลูกค้าสั่งปริมาณมากตนก็จะนำไปส่งให้ถึงที่เช่นกัน