วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

ชป.เคาะแล้วจัดสรรน้ำยังเป็นรอบเวร พื้นที่มากกว่า 2 แสนไร่ปลูกช่วงแล้ง สั่งรีเช็คนัดถกอีกรอบ15ธ.ค.

01 ธ.ค. 2017
2094

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ (ผอ.คป.ชม.) รายงานถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่า จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เชียงใหม่ปีนี้มีปริมาณฝนดีกว่าปีก่อนหน้านี้ราว 25 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกันฝนที่ว่ากลายเป็นน้ำท่าที่ไหลในลำน้ำธรรมชาติของเชียงใหม่กลับลดลงไปราว 15 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุมาจากการตกของฝน ในปีนี้ฝนจะตกกระจายไปในทุกพื้นที่ อีกประการฝนปีนี้ตกเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง ช่วงที่ฝนไม่ตกดินมีสภาพแห้งพอฝนตกน้ำก็ไหลซึมลงไปในดินส่วนหนึ่ง

“หากดูต้นน้ำที่อำเภอเชียงดาวพบว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.60 เป็นต้นมา น้ำไหลที่อำเภอเชียงดาวจะน้อยลงเรื่อยๆ ปริมาณน้ำที่ไหลเป็นเลขตัวเดียวเรื่อยมา ณ ขณะนี้ที่เชียงดาวมีน้ำไหลในแม่น้ำปิงอยู่ที่ 6 ลบ.ม.ต่อวินาที วันก่อนมีปริมาณน้ำอยู่ราว 5.7 แสน ลบ.ม. วันนี้เหลือเพียง 5.1 แสน ลบ.ม. และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ ปริมาณน้ำที่ต้นน้ำปิงก็จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน หากถึงช่วงฤดูแล้งปริมาณน้ำที่ต้นแม่น้ำปิงก็จะเหลือเพียงแค่หลักหมื่นเท่านั้น” ผอ.คป.ชม. กล่าว

นายเจนศักดิ์ฯ กล่าวว่า ในส่วนตอนกลางหากดูที่สถานีวัดน้ำที่สะพานป่างิ้ว วงแหวนรอบ 3 ขณะนี้มีน้ำเพียง 3.6 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ก่อนหน้านี้เพียง 1 วันมีปริมาณน้ำที่ 3.7 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มลดลงเช่นกัน หากดูที่ ปตร.แม่น้ำปิง ต.ป่าแดด ทางโครงการชลประทานยังระบายน้ำออกไปท้ายน้ำที่ 2.6 ล้าน ลบ.ม. คือพยายามที่จะรักษาระดับของน้ำปิงไว้ที่ +301.8 เพราะหัวสูบของสถานีประปาป่าแดดอยู่ที่ 300.5 จึงนี้แสดงให้เห็นได้ว่ามีน้ำใช้ในตัวเมืองได้อย่างเพียงพอแน่นอน ส่วนประตูระบายน้ำที่ อ.จอมทอง ขณะนี้ระบายน้ำอยู่ที่ 3.3 ล้าน ลบ.ม. ก็จะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล

“สถานการณ์นับจากนี้ไปน้ำในลำน้ำต่างๆ ก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง มีเพียงลำน้ำเดียวที่ยังไหลดีอยู่ต่างจากปีที่ผ่านมาคือ น้ำแม่แตง วันนี้น้ำแม่แตงยังคงมีปริมาณมาก น้ำสาขาต่างๆ ที่ไหลลงมาในลุ่มแม่น้ำปิงหากเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่ายังมีน้ำไหลอยู่ในพื้นที่ในปริมาณที่มากกว่าปีที่ผ่านมาราว 30 เปอร์เซ็นต์ ชี้ให้เห็นได้ว่าในช่วงแล้งที่จะถึงนี้ น้ำที่มีอยู่ในลำน้ำต่างๆ น่าจะมีปริมาณที่มากกว่าในปีที่ผ่านมา” นายเจนศักดิ์ฯ กล่าว

จากการประชุมหน่วยงานในสำนักงานชลประทานที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา จากประเด็นเมื่อน้ำมีปริมาณที่มากขึ้นคาดการณ์ว่า ในทุกพื้นที่ทุกส่วนทั้งเขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง และฝายแม่แตง จะมีการปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าปีทีผ่านมา 1.5 ถึง 2 เท่า นั่นก็คือคงจะมีการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น

ผอ.คป.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า เมื่อมาพิจารณาน้ำในแต่ละแห่งพบว่า ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีน้ำอยู่ราว 99 เปอร์เซ็นต์ของความจุที่ 265 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีอยู่ราว 262 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมาอยู่ราว 84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ มีการวางแผนไว้ว่า ที่เขื่อนแม่งัดฯ ในพื้นที่ชลประทานจะมีการปลูกพืชฤดูแล้งประมาณ 67,000 ไร่ จะใช้น้ำราว 110 ล้าน ลบ.ม. ส่วนพื้นที่ตอนด้านล่างคือ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิงทั้งพื้นที่ชลประทานรวมถึงพื้นที่ที่ชลประทานถ่ายโอนให้แก่ อปท. คือสถานีสูบน้ำต่างๆ 88 สถานี คาดว่าจะมีการปลูกพืชฤดูแล้งประมาณ 80,000 ไร่ จะกันน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ลงมาช่วยประมาณ 65 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำในส่วนที่เหลือจะกันไว้สำหรับการทำนาปีในหน้าและเผื่อการสำรองไว้ในระบบจะกันไว้ราว 73 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบนยังคงจะให้การบริหารจัดการเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยทุกฝ่ายทั้ง 13 ฝ่ายในลุ่มแม่น้ำปิงจะต้องมอบกุญแจประตูน้ำต่างๆ ให้แก่สำนักงานชลประทานฯ โดยจะมีการปล่อยน้ำให้เป็นรอบตามแผนที่กำหนดไว้ คาดว่าในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2560 จะมีการสำรวจการใช้พื้นที่สำหรับการปลูกพืชฤดูแล้งอีกรอบเพื่อการวางแผนการบริหารจัดการในชัดเจนและการประสานแจ้งให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในส่วนต่างๆ ได้รับทราบอีกครั้ง

นายเจนศักดิ์ฯ กล่าวว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธาราขณะนี้มีน้ำอยู่ราว 123 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมาราว 12 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ไว้ว่าในพื้นที่จะมีการปลูกพืชฤดูแล้งราว 30,000 ไร่ จะมีการใช้น้ำอยู่ราว 70 ล้าน ลบ.ม. จะกันไว้สำหรับการผลิตน้ำประปาราว 4 ล้าน ลบ.ม. (เดือนละ 1 ล้าน ลบ.ม.) กันไว้รักษาระบบนิเวศ 1 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือกันไว้สำหรับการปลูกข้าวนาปีในปีถัดไปและสำรองไว้ราว 48 ล้าน ลบ.ม.

“สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางต่างๆ ทั้ง 12 อ่างในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของความจุดอยู่ 10 แห่ง ในจำนวนนี้มีอ่างที่เกิน 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ 5 อ่าง โดยรวมแล้วอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณอยู่ราว 89 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีน้ำค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ ในพื้นที่ทั้ง 12 อ่างแล้วทราบว่าในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ จะมีผู้ปลูกข้าวนาปรังราว 5,000 ไร่ ที่เหลืออีกราว 20,000 ไร่ จะมีการปลูกพืชฤดูแล้ง และจากทำการตรวจสอบแล้วทั้ง 12 อ่างเก็บน้ำไม่มีพื้นที่ใดที่จะมีการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งเกินกว่าศักยภาพของอ่าง ซึ่งในวันที่ 15 ธ.ค.60 นี้จะมีการประชุมอีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจสอบซ้ำอีกครั้งและจะประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีศักยภาพเก็บกักน้ำตั้งแต่ 100,000 ลบ.ม.ขึ้นไปในพื้นที่เชียงใหม่ มีจำนวน 101 แห่ง ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมอยู่ราว 81 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะปลูกพืชฤดูแล้งราว 18,200 ไร่” ผอ.คป.ชม. แจง

แม้ว่าปริมาณน้ำโดยรวมจะมีปริมาณที่สมบูรณ์ แต่การบริหารจัดการน้ำในปีนี้ยังจะบริหารจัดการแบบรอบเวรเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ กล่าวทิ้งท้าย