วันอังคาร, 3 ธันวาคม 2567

พื้นที่ในปกครอง”ตาก” แต่ต้องเข้าทางม่อนจองอมก๋อย “นอ.ศิวะ”ลงพื้นที่เตรียมเร่งปรับแนวเขตปกครอง

29 พ.ย. 2017
2653

นายศิวะ ธมิกานนท์ นายอำเภออมก๋อย และเจ้าหน้าที่จากที่ทำการปกครอง อ.อมก๋อย ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านมูเซอหลังเมือง ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก พร้อมมอบพระพุทธรูปพระสิงห์  ให้กับศูนย์การเรียน ตชด.ฯ เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนรวมทั้งประชาชนทั่วไปได้สักการะและบูชา เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

พร้อมกันนี้ได้มอบผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดเชียงใหม่โดย สนง.ปภ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยขนม-เครื่องดื่มให้แก่เด็กนักเรียน และครูในศูนย์การเรียน ตชด.ฯ และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านมูเซอหลังเมือง ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ได้เข้าเยี่ยมการดำเนินการเตรียมการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการตรวจเยี่ยม ศกร.ตชด. ตามเส้น
ทางเสด็จฯ, โครงการเกษตรอาหารกลางวัน, โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯ ในวันที่ 18 ธ.ค.60
ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้การตรวจเยี่ยมดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กพัฒนาการล่าช้าสนับสนุนโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็กไทยต่ำกว่าเกณฑ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ของเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเตรียมการแก้ไขแนวเขตการปกครองจังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านมูเซอหลังเมือง ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มาอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและประชาชน ตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดตากด้วย

ชุมชนบ้านหลังเมือง เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมประกอบด้วย 2 เผ่า 3 หย่อมบ้าน คือ บ้านมูเซอหลังเมืองใหม่ บ้านมูเซอหลังเมืองเก่า และบ้านกะเหรี่ยงหลังเมือง เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีเพียง 74 ครัวเรือน ประชากรโดยรวม 382 คน หากดูประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนนี้ ชุมชนเลือกที่จะอยู่และทำกินในพื้นที่ห่างไกลลึกเข้าไปในป่า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าว ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ปี พ.ศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2521

เมื่อถามว่า ชาวบ้านมีการดูแลรักษาป่ากันอย่างไร พ่อเฒ่าจะจ๋อย หน่ามือ ซึ่งเป็นผู้นำชนเผ่าลาหู่ และเป็นผู้อาวุโส ซึ่งทำหน้าที่นำพิธีกรรมต่างๆ กล่าวว่า “ มันเป็นไปโดยธรรมชาติ ชาวบ้านทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ผู้เฒ่า ผู้แก่ เด็กๆ ก็มีการพูดคุยกันอยู่เสมอๆ บางครั้งก็พูดกันในที่ประชุม บางครั้งก็พูดกันในงานพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งหมู่บ้านนี้ ทั้งลาหู่ และปกาเกอญอ มีพิธีกรรมต่างๆ มากมาย ชาวบ้านเราทั้งหมด มีการพบปะพูดคุยกันตลอด เช่น การป้องกันรักษาป่า ชาวบ้านจะไม่มีการตัดไม้ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เอง หรือขายให้กับคนข้างนอกไม่มี ชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย แต่รู้ว่าการตัดต้นไม้ใหญ่นั้น จะทำให้ผิดผี ผิดประเพณี ผู้ที่ตัดไม้ บุกรุก แผ้วถางป่า เผาป่า หรือแม้กระทั่งการล่าสัตว์ป่าขนาดใหญ่ก็จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย”

พะตี่พะดอผะ ผู้ซึ่งเป็นปกาเกอญอสามารถฟังและรู้เรื่องภาษาของลาหู่ และเป็นผู้ที่เคยเดินทางมาร่วมประชุมกับเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ เคยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกในชีวิต ก็ตอนที่ไปชุมนุมเรียกร้อง พ.ร.บ. ป่าชุมชน กล่าวเสริมว่า “ชาวบ้านที่นี่อยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง ในช่วงฤดูแล้งเมื่อเกิดไฟป่า ชาวบ้านก็จะช่วยกันดับไฟ ทำแนวกันไฟ ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากหมู่บ้านอื่นเข้ามาจุดไฟเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ ซึ่งพวกเราไม่ชอบเลย ซึ่งในฤดูแล้งจะหากินยากลำบากขึ้น แต่พวกเราก็พออยู่ได้ หาผัก หาปลาในป่า ในไร่ ในสวนก็ยังพอมี พูดถึงอาหารการกิน พวกเราจะซื้อจากตลาดน้อยมาก จะมีก็เพียงของที่เราทำเองไม่ได้ ในป่า ไม่มี อย่างเช่น กะปิ น้ำปลา เกลือ น้ำมันพืช และของใช้อื่นๆ พวกเสื้อผ้า เป็นต้น พอถึงฤดูฝน ที่นี่ฝนตกเยอะ แต่น้ำไม่ท่วมเราอยู่ต้นน้ำ ลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านของเรานี้ ไหลลงสู่ลำน้ำแม่ปิง เหนือเขื่อนภูมิพล ตอนที่ตั้งหมู่บ้านครั้งแรกนั้น เราไม่รู้หรอกว่า ที่เราอยู่นี้อยู่ในเขตจังหวัดไหน ต่อมาทหารมาบอก จึงรู้ว่าเราอยู่เขตพื้นที่จังหวัดตาก แต่ทางเข้าอยู่ทางด้านอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่”

“เรื่องถนน มันจะยากลำบากมากเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น รถยนต์ รถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซค์) สัญจรไปมาไม่ได้ แต่เราก็ยังเดินได้ ระยะทาง 16 กิโลเมตร จากหมู่บ้านปากทางนั้นไม่ใช่เรื่องยาก นานๆ ทีเราถึงมีความจำเป็นหรือธุระที่จะออกมาข้างนอก เรามีเส้นทางเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขา บางทีก็ลงหุบเขา ผ่านผืนป่าอันร่มรื่น บางครั้งเราก็เจอไก่ฟ้า เราได้ยินเสียง ค่าง ชะนี เราเห็นร่องรอยของหมีควายที่ตะกุยต้นไม้ แม้กระทั่งร่องรอยเส้นทางที่ช้างป่าเดินผ่าน ที่เรียกว่า ‘ด่านช้าง’ เราก็ใช้ร่วมกัน”
ที่มาข้อมูล : https://pttinternet.pttplc.com/greenglobe/2549/community-01.html

ทั้งนี้พื้นที่บ้านมูเซอหลังเมือง อยู่ในเขตปกครองของอำเภอสามเงา จังหวัดตาก แต่การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านใช้เส้นทางผ่านทางตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 29 พ.ย.60 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ให้ดำเนินการเพื่อการจัดการแนวเขตปกครองใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อันจะเป็นประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่

นายมนัส ขันใส ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงในที่ประชุมว่า แนวเขตจังหวัดนั้นอ้างอิงจากแนวเขตของอำเภอพื้นที่เป็นหลัก การจะเปลี่ยนแปลงเขตปกครองให้ทั้ง 2 อำเภอประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อสรูปในการจะจัดเขตพื้นที่ปกครองใหม่จากนั้นให้เสนอจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้าน นายศิวะ ธมิกานนท์ นายอำเภออมก๋อย กล่าวว่า จากข้อแนะนำของจังหวัดหลังจากนี้ทางอำเภอจะได้เข้าไปประชุมร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจองและประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแนวเขต เพื่อทำเอกสารเสนอจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ดำเนินการประสานไปยังจังหวัดตากต่อไป ซึ่งในพื้นที่เองทราบปัญหาเรื่องนี้มานานและพร้อมที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงเขตปกครองทั้ง 2 พื้นที่ โดยเรื่องเกี่ยวกับเอกสารต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 18 ธ.ค.60 นี้  

ขอบคุณข้อมูลจาก : นายศิวะ ธมิกานนท์ นายอำเภออมก๋อย
และภาพบางส่วนจาก : https://www.facebook.com/pages/ศกรตชดบ้านมูเซอหลังเมือง/