วันเสาร์, 4 พฤษภาคม 2567

“ปนัดดา” แจง ศธ. วาง 8 แนวทางให้ภูมิภาคเร่งขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา รับศึกษาธิการจังหวัดยังไม่บริบูรณ์ เร่งจูนให้บูรณการในพื้นที่ให้ได้

09 พ.ย. 2017
2113

วันที่ 9 พ.ย.60 ที่โรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงฯ เดินทางมาตรวจเยี่ยมและประชุมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ โดยช่วงแรก รมช.ศึกษาธิการ ได้ ตรวจเยี่ยมและพบปะสนทนากับผู้บริหาร ครูอาจารย์ ลูกหลานนักเรียน โรงเรียนจักรคำคณาทร และบรรยายพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชา สืบสานพระราชปณิธานโรงเรียนคุณธรรม” จากนั้นเป็นการประชุมร่วมเพื่อมอบนโยบายให้กับศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการพื้นที่เขตการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ในพื้นที่ศึกษาธิการภาค 15

ก่อนการประชุมเพื่อมอบนโยบาย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องที่จะนำมาบอกกล่าวกับบุคลากรทางการศึกษาที่มีประชุมในวันนี้เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาของกระทรวงฯ ที่อยากจะให้สถานศึกษาที่ไม่ใช่เฉพาะสังกัด สพฐ. รวมไปถึงโรงเรียนในสังกัด อปท. โรงเรียนเอกชน ทุกฝ่ายร่วมใจที่จะขับเคลื่อนหลักสูตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กๆ การใช้ภาษาต่างประเทศที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งหมายความถึงภาษาของประเทศเพื่อนบ้านด้วยที่เราต้องคบค้าสมาคมด้วย

“ขณะนี้ศึกษาธิการจังหวัดมีกรรมการที่มาจากภาคเอกชน ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม หลายท่านหลายพื้นที่ให้ความคิดที่ดีมากว่า เด็กๆ เรียนจบแล้ว อยากให้กลับมาทำงานที่บ้าน พยายามจะสร้างงานสร้างอาชีพ อยากให้เด็กเรียนสาขาอะไรก็เสนอแนะให้เด็กเรียน ซึ่งไม่เป็นการบังคับ เด็กเองต้องมีพรสวรรค์ด้วย เมื่อเรียนจบก็กลับมาพัฒนาบ้านเกิด เหมือนโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่ชื่อว่า ครูคืนถิ่น คือจะได้กลับบ้าน ประการนี้จะต่างจากกระทรวงอื่นๆ เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการมองว่าการได้อยู่กับบ้าน ลูกหลาน ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของคุณธรรม จริยธรรม ก็จะมาให้กรอบความคิดนี้ไว้ อยากให้ครูบาอาจารย์ ต้องแต่ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งสำคัญอย่างมาก ช่วยเป็นแบบอย่างที่ยั่งยืนให้แก่ครูอาจารย์ ลูกศิษย์ ในการขับเคลื่อนสถานศึกษาสู่ความเป็นสถานศึกษาคุณธรรม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9” ม.ล.ปนัดดาฯ กล่าว

ในส่วนของโครงการสร้างและการดำเนินงานของศึกษาธิการจังหวัดซึ่งผ่านมาแล้วมากกว่า 2 ปี แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนจะมีแนวทางการปรับปรุงหรือจัดการอย่างไร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า มีหลายจังหวัดรายงานเข้ามายังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ และที่วิจารณ์กันว่าศึกษาธิการจังหวัดกับเขตพื้นที่การศึกษาขาดความเชื่อมโยงกัน ซึ่งได้พยายามดำเนินการให้ดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง หลายจังหวัดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะร้อยเปอร์เซ็นต์ครบถ้วนไปหมด อย่างเช่นการจำแนกงานระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาเดิมกับศึกษาธิการจังหวัด ที่หลายคนบอกว่าศึกษาธิการจังหวัดงานน้อย ซึ่งความจริงไม่ใช่ จะต้องเป็นการจัดสรรความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดดูแลเด็กๆ ให้เกิดพลังสูงสุดในด้านการเรียนการศึกษา

ต่อประเด็นความคืบหน้าของโรงเรียนคุณธรรม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. มีทั้งสิ้น 30,7000 กว่าโรง ซึ่งยังไม่รวมถึงสังกัดอื่น ในขณะนี้ถือว่าสอบผ่านโดยตัวชี้วัดมากกว่า 1 หมื่นโรงแล้ว และที่ไม่ผ่านทั้งหมด 3 หมื่นกว่าโรงเพราะต้องดำเนินการตามมาตรฐานของ กพ. มาตรฐานของ กพร. ที่จะมีตัวชี้วัด เช่น โรงเรียนไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีการลอกข้อสอบ การทำรายงาน งานวิจัย ต้องมีการอ้างอิงหลักฐาน ครูอาจารย์จะต้องช่วยดูแล เพราะโดยหน้าที่ของครูตามความหมายต้องเป็นผู้มีเมตตาแก่ศิษย์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องทั้งทางบ้านและทางโรงเรียนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ประเด็นที่กระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำในการขับเคลื่อนงานการศึกษาในภูมิภาคและจังหวัด มีด้วยกัน 8 แนวทางการการขับเคลื่อน ประกอบด้วย การจัดตั้งศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดความซับซ้อนและเตรียมการรองรับการปฏิรูปการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประการที่ 2 ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด สถานศึกษา และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัด ประการที่ 3 ให้ขับเคลื่อนตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาให้ความสำคัญ ประกอบด้วย การสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างศึกษาธิการจังหวัดและเขตการศึกษา การสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล ให้ทุกจังหวัดมีอนุกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์ และคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในระดับจังหวัด โดยเฉพาะเรื่อง โรงเรียนคุณธรรม, Onet, Work Experience และให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ประการที่ 4 กศจ. จะต้องมีบทบาทในการลดความแตกต่างในด้านคุณภาพและมาตรฐานระหว่างสถานศึกษา อัตราครูผู้สอนสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอน ลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้เรียนสามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ ประการที่ 5 งานของศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดต้องมีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของประเทศโดยไม่ขัดแย้งกัน ประการที่ 6 การบริหารจัดการศึกษาในภูมิภาคจะประสบความสำเร็จโดยบุคลากรของ สนง.ศึกษาธิการจังหวัดเองและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน

ประการที่ 7 ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนโดยใช้กิจกรรมโรงเรียนคุณธรรมและกิจกรรมลูกเสือเป็นแนวทาง เพื่อความมีระเบียบวินัยเป็นพื้นฐานของชีวิตและความเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ประการที่ 8 กระทรวงศึกษาธิการจะติดตามการดำเนินงานโดยใช้กระบวนการตรวจราชการและการลงพื้นที่ของผู้บริหารระดับสูง