วันพุธ, 11 กันยายน 2567

“ปนัดดา” ชี้การดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ มีความร่มเย็น ปราศจากความขัดแย้ง ช่วยให้สังคมน่าอยู่

08 พ.ย. 2017
2183

รมช.ศธ. (ปนัดดา) กล่าวกับผู้บริหาร ครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ลูกหลานนักเรียน รร.สตรีวิทยา 2 ‘ศาสตราจารย์ทางการทูตของตน และบิดาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สอนตนไว้ว่า การเรียนรู้การใช้ภาษาทางการทูต ช่วยให้สังคมน่าอยู่ เกิดการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ มีความร่มเย็น ปราศจากความขัดแย้ง และเอื้ออาทรต่อกัน สืบสานพระราชปณิธานของในหลวง ความรู้รักสามัคคี’

วันที่ 7 พ.ย.60 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยี่ยมเยียนพบปะสนทนากับผู้บริหาร ครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ครูอาจารย์ชาวต่างประเทศ และลูกหลานนักเรียน รร.สตรีวิทยา 2 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชาจะดำรงอยู่กับลูกหลานตลอดไป และโครงการการใช้ภาษาต่างประเทศทางการทูต (Diplomatic Language)” ณ หอประชุม รร.สตรีวิทยา 2 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เขตลาดพร้าว

ม.ล.ปนัดดา กล่าวในตอนหนึ่งว่า ศาสตร์พระราชา ว่าด้วย ความรู้รักสามัคคี และความเข้าใจเข้าถึงและพัฒนา สามารถนำมาประกอบเข้ากับการเรียนการศึกษาหลักการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทูต (Diplomatic Language) ได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่าความเป็นมืออาชีพในการใช้หลักภาษาที่มีสาระความรู้ เป็นวิชาการ มีความถูกต้องด้วยเหตุและผล การดำรงชีวิตที่มีระเบียบ เป็นสุภาพชน และมีมิตรสัมพันธ์อันดีกับสมาชิกคนใด กลุ่มใด หรือมิตรประเทศใดๆ ในโลก ในสังคมซึ่งปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีหลากหลายมากมายทางความคิด อันก่อให้เกิดผลลัพธ์หรือปรากฏการณ์ทั้งที่เป็นเชิงบวกและลบ

อย่างไรก็ดี ความชำนาญการ ความรอบรู้ ในการใช้ภาษาทางการทูต (Diplomatic Language) ย่อมช่วยให้บุคคลหนึ่งๆ ในนามของหมู่คณะหรือองค์กร สามารถแก้ไขสถานการณ์ อาจเป็นจากหนักให้กลายเป็นเบา หรืออาจไม่เป็นปัญหาเกิดขึ้นเลย กับอีกทั้งจะก่อให้เกิดไมตรีจิตอันดีงามเป็นที่จารึกจดจำอีกเป็นเวลายาวนานทางสัมพันธภาพ ได้แก่ : ความตั้งใจและความพยายามในการทำความเข้าใจปัญหาหนึ่งๆ ในเบื้องต้น เรียกว่า “Concentration and be understanding”, หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงความสิ้นหวัง ความหมายในเชิงลบ ถ้อยคำที่หยาบคาย ที่จะทำให้บุคคลหมดกำลังใจ หดหู่ใจ เสียใจ เจ็บใจ เรียกว่า “Avoid negative word”, ขณะเดียวกัน อย่าใช้คำว่า “ขอโทษ” (Sorry) พร่ำเพรื่อ แต่ก็จำเป็นต้องใช้ตามโอกาสและเวลาที่เหมาะสม เพราะถือเป็นคำมหัศจรรย์ เป็น “Etiquette” (มารยาท)

ประการสำคัญ แม้รวมถึงความสำนึก ความรับผิดชอบ ขอแนะนำว่า การใช้ถ้อยคำสนทนาที่เรียกว่ามีความเรียบง่าย แต่จริงใจ มีความหมายอันไพเราะ ไม่ทำร้ายจิตใจใคร ไม่เหน็บแนมใคร ไม่ใส่ร้ายป้ายสีใครผู้ใด ต้องไม่ตั้งคำถามสัมภาษณ์หรือสนทนากับใครเพื่อหวังว่ากล่าวบุคคลอื่นโดยทางอ้อม ลบหลู่ดูหมิ่นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติอื่น สังคมอื่น ศาสนาอื่น ชาติพันธุ์หรือเผ่าพันธุ์อื่น ทำตัวคุยโวโอ้อวดและขาดกิริยามารยาทอันควร การพูดจาทั้งในห้องรับรอง (Reception Hall) โต๊ะรับประทานอาหาร หรือสถานที่สาธารณะ (Public Place) จงอย่าชี้มือชี้ไม้ ชี้หน้าบุคคล นำภาชนะมีดส้อมหรือช้อนขึ้นมาใช้ประกอบการสนทนา ชี้ไปที่โน่นที่นี่ เอ่ยชื่อบุคคล ชื่อองค์กร ชื่อประเทศ ฯลฯ ในทางลบเป็นอันขาด อันจะสร้างความเสียใจ ความไม่พึงพอใจเกิดขึ้น เพราะเปรียบเสมือนการดูหมิ่นดูแคลนบุคคลอื่นและองค์กร, สุดท้าย คือ การมีสัมมาคารวะ รู้จักจังหวะ โอกาส วัน-เวลา ยึดมั่นความสุภาพอ่อนน้อมอย่างสม่ำเสมอตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 การมีทัศนคติที่ดีต่อกันและชาติบ้านเมือง การยึดมั่น Code of conduct, Honour system, Be humble, Be modest รมช.ศึกษาธิการ. กล่าวในบทสรุปของการปาฐกถาพิเศษ ที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมบ่ายวันนี้ต่างล้วนมีความประทับใจและมีส่วนร่วมในกระบวนการตอบคำถามของวิทยากร