วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ติดอาวุธ 52 Startup ชุดแรก ศูนย์ส่งเสริมอุตฯ ภาค 1 จับมือ มช. ติวเสริมเพิ่มเขี้ยวเล็บให้ผู้ประกอบการ

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จับมือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. พร้อมติดอาวุธ 52 Startup ชุดแรกที่บ่มเพาะติวเข้มเป็นความหวังใหม่กระตุ้นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ใน 5 ปี มีโค้ชรุ่นเก๋าคอยชี้ทางต่อยอดให้เข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่อาคาร SMEs ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 พร้อมด้วย ผศ ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STEP) ร่วมกันเปิดนิทรรศการแสดงสินค้าและเวทีเสวนาเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการกลุ่ม Startup ชุดแรกที่ได้บ่มเพาะชุดแรกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศภายใต้โครงการสร้างและพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเชื่อมโยงระบบดิจิตอล ตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายหลักไทยแลนด์ 4.0 โดยในงานยังมีวิทยากรจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ร่วมให้แนวคิดแนวทางขับเคลื่อนอย่างมืออาชีพด้วย

ทั้งนี้ นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า โครงการนี้เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่ม Startup ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน ฝ่ายวิชาการตามแนวประชารัฐ และเป้าหมายหลักของชาติในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือหลังจากคัดสรรได้ 52 Startup /SMEs มาติวเข้มเสริมความรู้ด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาด้านธุรกิจทั้งประสบการณ์ด้านต่างๆ ตามที่ STEP เป็นผู้ Training ให้ เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาการค้าการเจรจาทางธุรกิจได้จริง ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นความคาดหวังใหม่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 หลังจากที่คัดสรรมาแล้ว 500 ราย แล้วคัดกรองความพร้อมเหลือ 200 รายและสุดท้ายที่พร้อมที่สุดที่จะเดินไปได้อย่างเข้มแข็งเหลือ 52 ราย ที่เป็นล็อตแรกที่จะนำมาต่อยอด โดยที่ไม่ผ่านรอบนี้ก็ไม่ได้ทิ้งเพราะยังมีแผนงานพัฒนาต่อยอดสร้างความพร้อมระยะต่อไปตามปีงบประมาณ

ด้าน ผศ ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ หรือ STEP นั้น เป็นผู้ training ในด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ ที่ได้รับการคัดสรร เพื่อไปต่อยอดให้มีศักยภาพ ซึ่งก็เห็นผลชัดเจนไปแล้ว ตอนนี้ได้มีการเจรจาธุรกิจเข้ามาแล้ว โดยทั้งหมดจะมีโค้ชธุรกิจ ซึ่งเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วมาคอยดูแลตลอดเวลา ซึ่งทางอุทยานฯก็มีโครงการอบรมบ่มเพาะกลุ่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งภายใต้ความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคตที่ดีมาก ซึ่งจากความสำเร็จการเปิดตัว โครงการสร้างและพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเชื่อมโยงระบบดิจิทัล (Lanna Digital Economy for SMEs) เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการใหม่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เป็นจำนวนมากกว่า 300-500 ราย ซึ่งวัตถุประสงค์โครงการฯ นั้น คือ การมุ่งเน้นสร้างเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการใหม่ (Startup) หรือที่เรียกกันว่า ติดอาวุธ Startup ให้มีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถต่อยอดแนวคิดธุรกิจของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการสร้างความตระหนักถึงการเป็นบุคลากรผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Service Provider: SP) พร้อมองค์ความรู้และทักษะด้านกลยุทธ์การตลาดยุคดิจิตัลให้มีความสามารถตอบสนองกับตลาดสมัยใหม่ ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการตามแนวทาง New S-Curve ตามนโยบายของรัฐบาล

โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการฯ ครั้งนี้ ต้องผ่านกระบวนการอบรมอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลา 60 วัน และจำเป็นต้องเกิดการทดสอบตลาดเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทดลองและเรียนรู้การตลาดที่เกิดขึ้นจริง คณะผู้ดำเนินโครงการฯ จึงจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการ ภายใต้ธีมงาน Startup Digital & Innovation (โซน J) อาคาร SMEs โดยเป็นความร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจัดแสดงสินค้า ทดสอบตลาด รวมถึงกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย เชื่อมโยงกับนักธุรกิจหรือนักลงทุนที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต ระหว่างวันที่ 15 – 24 กันยายนนี้ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก 52 รายนี้ได้กว่า 1,000 ล้านบาทใน 5 ปีนี้