วันเสาร์, 7 กันยายน 2567

“ปนัดดา” พบผู้บริหาร สพฐ. ชี้ให้เห็นชัดๆ “หน้าที่รับผิดชอบ ดีหรือไม่ ดูที่…หน.องค์กร”

17 ก.ย. 2017
2284

วันที่ 16 ก.ย. 60 ที่ผ่านมา ณ อ.เมือง จ.นครนายก หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รมช.ศธ. พบปะสนทนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง “ครูในอุดมคติ” แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า โดยที่ตนรับราชการเป็นครูอาจารย์มาก่อนแม้ในทุกวันนี้ในฐานะอาจารย์พิเศษของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง แต่สิ่งที่จดจำได้เสมอมา คือ คำบันทึกบอกเล่าถึงคำสอนของบรมครูหลายๆ ท่าน อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รองศาสตราจารย์ ไพเราะ ตัณฑิกุล พลเอก สิทธิ จิรโรจน์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร หรือแม้แต่บิดาของตน คือ เอกอัครราชทูต หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล

ทุกท่านเหล่านี้จะมีอะไรที่ตรงกันหรือคล้ายคลึงกันมากในเรื่องวิสัยทัศน์ทางการศึกษาและคุณธรรม ได้แก่ เรื่องความมีระเบียบวินัย อันหมายถึง ความประพฤติ ทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่แสดงถึงความเคารพในกฎหมาย มีระเบียบทางความคิดและการกระทำ รวมถึงการให้เกียรติผู้อื่น พร้อมกับการเป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยธรรมาภิบาล เพื่อให้ศิษย์และบุคคลอื่นๆ เดินตาม

รมช.ศธ. กล่าวในตอนหนึ่งถึงคำสอนของบรรพบุรุษไทย ว่า ความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม หมายถึง การประพฤติที่ไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบ ไม่เห็นแก่ตัว หรือคดโกงผู้อื่น ยึดถือหลักการและเหตุผล ระเบียบแบบแผนและกฎหมายเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ ท่านมีความขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาชีพด้วยความมุ่งมั่น สุจริตธรรม และมีความขยันขันแข็ง รักษาความดีงามอย่างสม่ำเสมอ

ความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบต่อสัมมาชีพ สังคม และประเทศชาติ หมายถึง ความประพฤติที่ไม่เคยคิดเอารัดเอาเปรียบใครผู้ใด และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด

ความคิดริเริ่ม วิจารณ์ และยกตัวอย่างที่มีเหตุผล หมายถึง ความประพฤติอันสร้างสรรค์และปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อผิดพลาดต้องยอมรับผิดเพื่อเป็นบทเรียนสำคัญที่จะไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสอง มีความประพฤติที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันโดยยึดผลประโยชน์ของสังคมให้มากที่สุด

ครูอาจารย์ควรเป็นผู้มีพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะทำอะไรต่ออะไรได้เพื่อศิษย์และสังคมของการเรียนรู้ ที่มีความทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ ความสามารถในการพึ่งพาตนเองและมีอุดมคติประจำใจ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” มีความเกรงใจที่จะไม่รบกวนหรือขอความช่วยเหลือจากใครผู้อื่นโดยไม่จำเป็น

ความภาคภูมิใจและการรู้จักทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม ดำรงรักษาเอกลักษณ์ของชาติ อันบ่งบอกถึงความเป็นชาติและความภาคภูมิใจในชาติ และสถาบันสำคัญของชาติ ความมีเมตตากรุณามีความสำคัญสูงยิ่งในความเป็นครูอาจารย์ เกื้อกูลคุณธรรม ความกตัญญูกตเวที เป็นแบบอย่างของความเสียสละ ความรู้รักสามัคคี และความซื่อสัตย์สุจริตตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

รมช.ศธ. กล่าวโดยสรุปว่า ผู้บริหารทางการศึกษา จึงสมควรมีคุณธรรมและคุณสมบัติ ได้แก่ ทำแผนการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี มีความครบถ้วนทางกระบวนทัศน์ ทั้งเรื่องระเบียบพิธี ความที่ควรจะเป็น มารยาทและศีลธรรมจรรยา หลักสูตรทางการศึกษาของแต่ละกระบวนรายวิชา สามารถทำการอบรม แนะแนว และการบริหารจัดการสถานศึกษาได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างการทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อหลักสูตรทางการศึกษา และการเสริมสร้างความรู้รักสามัคคี ไม่มีความขัดแย้งระหว่างสถานศึกษา ริเริ่มและเสริมสร้างมิตรไมตรีอันดีและร่วมมือกับชุมชนในการอนุรักษ์พื้นที่ ทั้งเรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย