วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

“เฉลิม” สร้างพญานาคคู่หนองบัว เตรียมจัดยี่เป็งยิ่งใหญ่เพื่อบูชา

13 ก.ย. 2017
4504

นายเฉลิม สารแปง นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวถึง งานป๋าเวณียี่เป็งที่จะถึงในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ว่า ปีนี้จะไม่มีการโหมประชาสัมพันธ์อย่างเช่นทุกปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ขนาดหรือสเกลของงานปีนี้จะไม่มีมหรสพบันเทิง แต่จะมีการจุดผางปะตี๊ด (ประทีป) ตรงบริเวณชายหาดหนองบัวพระเจ้าหลวงเหมือนเดิม รวมทั้งบริเวณทางเดิน ศาลาเก้าเหลี่ยมซึ่งจะจุดประทีปเป็นรูป 12 นักษัตร รอบศาลาเก้าเหลี่ยม โดยบริเวณที่เป็นช่องว่างระหว่างนักษัตรนั้นจะนำดอกดาวเรืองมาปลูกแซมไว้ กลางคืนมาดูประทีป ส่วนกลางวันจะได้เห็นดอกดาวเรืองสะพรั่งไปด้วยสีเหลือง ซึ่งจะมีการปลูกแปรอักษรเป็นความที่มีความหมายเพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9


“นอกจากนี้ยังจะมีซุ้มทางเข้าจะมีการประดับโคมล้านนาเพื่อนำเข้ามาสู่ศาลาเก้าเหลี่ยม พร้อมกันนี้จะมีการแสดงพระธรรมเทศนา อานิสงค์ผางปะตี๊ด อีกทั้งจะมีการปล่อยโคมลอย (โคมไฟ) โดยจะปล่อยในวันที่จังหวัดอนุญาตให้ปล่อยได้คือวันเพ็ญยี่เป็ง ยืนยันว่าจะอลังการอย่างแน่นอน เพียงแต่จะไม่มีการโฆษณามากมาย เพราะว่าเป็นช่วงที่คนไทยทั่วประเทศยังไว้ทุกข์ให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 และหากเทียบกับทุกครั้งที่เคยจัดมา บอกได้เลยว่า ปีนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปี” นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย กล่าว


นายเฉลิมฯ กล่าวต่อว่า อีกประการที่สำคัญคือ ในวันยี่เป็งปีนี้จะมีพิธีบูชาพญานาคที่ทางเทศบาลตำบลเชิงดอยได้มีการจัดสร้างขึ้นด้วยในวาระเดียวกัน ส่วนไฮไลท์คงจะเป็นผางปะตี๊ดที่จุดมากกว่า 5,000 ดวง เมื่อจุดแล้วไฟกับน้ำจะทำให้ภาพที่ปรากฏมีความสวยงาม “ไฟกับน้ำเล่นกันจะได้ภาพที่สวยงามนั่นเอง” นายก ทต.เชิงดอย กล่าวว่า สำหรับการจัดสร้างพญานาคในเบื้องต้นจะทำเพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้นตามกำลังที่พึงจะทำได้ แต่ด้วยบารมีของสำหรพญานาคแห่งหนองบัวพระเจ้าหลวงจึงมีผู้ร่วมสมทบเงินเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพียงพอที่จะสร้างเป็นพญานาค 2 ตัว ตามตำนานพญานาคแห่งหนองบัวพระเจ้าหลวง เพราะเมื่อเริ่มคิดจะสร้างพญานาคได้ไปติดต่อช่าง ตกลงกันที่ 1 ตัว ขนาดความยาว 5 เมตร ส่วนหัวสูง 3 เมตร ส่วนหางสูง 2 เมตร ซึ่งช่างรับปากว่าจะแล้วเสร็จทันงานยี่เป็งปีนี้


“จากที่คิดว่าจะสร้างพญานาค พอเรื่องได้แพร่สะพัดออกไป เงิน 2 แสนกว่าบาท ที่ใช้สำหรับจัดสร้างพญานาคทั้ง 2 ตัว ก็ได้รับการสมทบเข้ามาเพื่อการจัดสร้างเพียงพอที่จะจัดสร้างได้ พร้อมกับการสร้างสะพานเพื่อใช้เดินลงไปบูชาพญานาค และการปรับภูมิทัศน์ได้เหมาะสมกับพญานาคเมื่อปั้นแล้วเสร็จ” นายเฉลิมฯ กล่าว

นายเฉลิม สารแปง นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เพียงแค่คิดแล้วพูดผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ไม่ได้ยกหูโทรไปขอใครเลยแม้แต่รายเดียว เกิดขึ้นเพราะแรงศรัทธาที่มีต่อพญานาคของทุกท่านที่ร่วมสมทบมา ราวกับว่ามาช่วยเติมให้เต็มในตำนานพญานาคแห่งดอยสะเก็ดที่กล่าวไว้ว่ามี 2 ตัว เริ่มต้นคิดจะสร้างเพียงตัวเดียว แต่มีคนช่วยสมทบเข้ามาเป็นจำนวนมากกระทั่งได้เงินเพียงพอที่จะสร้างได้ทั้ง 2 ตัว ประการนี้เชื่อว่า ล้วนมาจากบารมีของพญานาค ณ หนองบัวนี้จริงๆ จำนวนเงินที่ได้รับเข้ามาจึงเพียงพอที่จะทำได้ดั่งในตำนานที่เล่าขานกันมาหลายชั่วคน

สำหรับตำนานพญานาคที่หนองบัวพระเจ้าหลวง อ.ดอยสะเก็ด บุญส่น พิณเสนาะ อดีต ผู้บริหารสถานศึกษา จ.เชียงใหม่ 9ได้โพสผ่านเฟสบุ๊ค “เฉลิม สารแปง” เมื่อ 9/9/60 โดยคัดเนื้อหาจากเว็บไซต์ www.ilovedoisaket.com/15701249 บางตอนไว้ว่า….
ดอยสะเก็ดตั้งอยู่ในส่วนที่เป็นเทือกเขากั้นระหว่างแอ่งอารยธรรม 2 แห่งคือ แอ่งอารยธรรมลุ่มน้ำกวง – ปิง เมื่อพญามังรายมหาราชรวมแอ่งอารยธรรมทั้ง 2 เข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรล้านนา ในปี พ.ศ. 1893 ดอยสะเก็ดจึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 แอ่งอารยธรรม และมีการพัฒนาร่วมกับอาณาจักรล้านนาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นจารีตในการบันทึกประวัติศาสตร์พบว่า ทุกเรื่องที่กล่าวถึงจะโยงถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งความเป็นมาของคำว่า “ดอยสะเก็ด” มีตำนานเล่าสืบกันต่อมา ดังนี้

ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมายังดอยเกิ้ง ในท้องที่อำเภอฮอดปัจจุบัน แล้วเสด็จผ่านมาที่พระพุทธบาททุ่งตุ้มยางวิด และเสด็จไปประทับที่ดอยพระบาทตีนนก เขตอำเภอสันทรายปัจจุบัน และได้ทรงทอดพระเนตรไปทางทิศใต้ได้พบหนองบัว มีดอกบัวมากมายอยู่ใกล้เชิงเขา และที่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของพญานาคสองสามีภรรยา และทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีให้พญานาคสองสามีภรรยาซึ่งกำลังหากินในบริเวณหนองบัวได้เห็นพระองค์เป็นที่อัศจรรย์ ก็เกิดความเลื่อมใส จึงจำแลงแปลงกายเป็นมนุษย์เก็บดอกบัวไปถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทูลขอพระเกศาเพื่อเก็บไว้บูชา โดยได้สร้างเจดีย์สวมทับเส้นพระเกศาไว้บนเขาลูกนี้ และได้เรียกเขาลูกนี้ว่า “ดอยเส้นเกศ” (ภูเขาตามคำพื้นเมืองคือดอย) และต่อๆ มาได้กลายเป็น “ดอยสระเก็ด”

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า คำว่าดอยสะเก็ด มาจากคำว่า ดอยสระเก็ด โดยได้ให้ความหมายไว้ว่า “สระ” คือใช้หรือทำความสะอาด ส่วนคำว่า “เก็ด” คือ เกล็ด ซึ่งหมายถึง เกล็ดของพญานาค พร้อมกับมีตำนานเล่าประกอบอธิบายว่า ในสมัยโบราณมีพญานาคสองตัวอาศัยอยู่ในหนองบัวใกล้เขาลูกหนึ่ง นานๆ ก็จะออกมาชำระร่างกาย พอเสร็จแล้วก็จะพากันขึ้นตากเกล็ดบนภูเขาใกล้กับหนองบัว ภูเขาลูกนี้จึงได้ชื่อว่า “ดอยสะเก็ด” และใช้เป็นชื่อของอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน