วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

รายงานพิเศษ… “ฝายเชียงดาว” มรดกอัปยศ

โครงการฝายเชียงดาว เป็นโครงการก่อสร้างฝ่ายเก็บกักน้ำบนแม่น้ำปิงตอนบน ในเขต อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำในฤดูฝน และนำไปใช้ในการเพาะปลูก การอุปโภค บริโภค และอื่นๆ ในฤดูแล้ง หรือฤดูฝนทิ้งช่วง ซึ่งยังไม่มีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในบริเวณนี้ องค์ประกอบหลักของโครงการได้แก่ อาคารหัวงานและส่วนประกอบ เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ของชลประทาน 10,144 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง 2,882 ไร่ และพื้นที่ชลประทานแบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 7,262 ไร่…นี่คือ วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างฝางเชียงดาว

โครงการฝายเชียงดาว ดำเนินการก่อสร้างในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนเมษายน 2546 โดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า…
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน

คราวนี้มาดูที่มาของกรมฯ นี้กันก่อน กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน โดยเกิดตามกฎหมายที่มีชื่อว่า พระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ.2535 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 9 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535)

เมื่อพลิกดูท้ายพระราชบัญญัติในส่วนที่เป็นหมายเหตุซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ หมายเหตุระบุว่า การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อเปลี่ยนให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติ เป็น กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และกำหนดหน้าที่ของกรมฯ ไว้ว่า ให้รับผิดชอบเฉพาะในด้านการค้นคว้า พัฒนา กำกับดูแล และปฏิบัติการเกี่ยวกับการผลิต การส่ง และการจำหน่ายพลังงาน
หากเข้าไปดูในตัวบท ระบุไว้ในมาตรา ๖ ว่า ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) สำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ทดลอง และตรวจสอบเกี่ยวกับพลังงานในด้านแหล่งพลังงาน การผลิต การแปรรูป การส่ง และการใช้
(๒) ศึกษา วางแผน และวางโครงการเกี่ยวกับพลังงานและกิจการที่เกี่ยวข้อง
(๓) ค้นคว้าและพัฒนา สาธิต และก่อให้เกิดโครงการริเริ่มเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้ และการอนุรักษ์แหล่งพลังงาน
(๔) ออกแบบ สร้าง และบำรุงรักษาแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป ระบบส่งและระบบใช้พลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานชนิดใหม่ การผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวล และการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
(๕) กำหนดระเบียบและมาตรฐานเกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้และการอนุรักษ์แหล่งพลังงาน ตลอดจนควบคุมและกำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบและมาตรฐานนั้น
(๖) กำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับการใช้พลังงานที่ดำเนินการ โดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
(๗) จัดให้มี ควบคุม ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า โอน หรือรับโอนแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป ระบบส่งและระบบจำหน่ายพลังงาน และออกใบอนุญาตผลิตหรือขยายการผลิตพลังงาน
(๘) ถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริม ฝึกอบรม เผยแพร่เกี่ยวกับการผลิต การแปรรูป การส่ง การใช้และการอนุรักษ์แหล่งพลังงาน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือในกิจการที่เกี่ยวข้อง

หากพิจารณาไปถึงปฐมบทของฝายเชียงดาวแล้ว จะพบว่า…..
ในปี พ.ศ. 2543 กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ได้รับงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฝายเชียงดาว ในวงเงินค่าก่อสร้าง 178 ล้านบาทเศษ เพื่อยกระดับน้ำในแม่น้ำปิง ลักษณะโครงการฯ เป็นฝายยางชนิดน้ำ ประกอบด้วยการก่อสร้างฐานคอนกรีตเสริมเหล็กหนา ประมาณ 2 เมตร พร้อมติดตั้งตัวฝายยาง ซึ่งมีความยาวของสันฝาย 72 เมตร สูงจากฐานคอนกรีต 3 เมตร สามารถพองตัวฝายขึ้นเพื่อยกระดับน้ำและยุบยางลงเมื่อไม่ต้องการเก็บกักน้ำ และเนื่องจากโครงการฝายเชียงดาวไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่ใช้ลำน้ำเดิมเป็นตัวเก็บกักน้ำ จึงต้องมีการก่อสร้างคันดินป้องกันน้ำล้นตลิ่งทางด้านเหนือฝายทั้งสองฝั่งของแม่น้ำปิง โดยเป็นคันดินกว้าง 4 เมตร สูงระหว่าง 0 – 3 เมตร ขนานไปตามลำน้ำปิง โดยคันดินฝั่งขวาของลำน้ำยาว 260 เมตร และฝั่งซ้ายยาว 958 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเชียงดาว”

จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพบว่า ที่ดินฝั่งซ้ายมีราษฎรเข้ามาทำประโยชน์ จำนวน 9 ราย ซึ่งโครงการฯ จะต้องจ่ายเป็นค่าขนย้ายเป็นพื้นที่ 23 – 2 – 84.45 ไร่ และราษฎรทั้ง 9 ราย ได้เรียกร้องขอค่าชดเชยในราคาไร่ละ 105,000 บาทต่อไร่ ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,489,668.13 บาท ส่วนทางด้านฝั่งขวาของลำน้ำเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาวเช่นกัน แต่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกอบรมและส่งเสริมการเกษตร หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32 ซึ่งโครงการฯ ได้ทำหนังสือขอความยินยอมให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวไปแล้ว ประกอบกับได้เคยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 ให้นำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 มาบังคับใช้กับโครงการของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานโดยอนุโลม และสามารถจ่ายค่าชดเชยให้ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์มาก่อนการก่อสร้างในที่ดินทุกประเภทรวมทั้งป่าสงวนแห่งชาติด้วย

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (คณะที่ ๒ ฝ่ายเศรษฐกิจ) ที่มีมติรับทราบผลการเจรจาลดค่าชดเชย (ค่าขนย้าย) โครงการฝายเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและคณะอนุกรรมการจ่ายค่าทดแทนทรัพย์สิน โครงการฝายเชียงดาว ได้เจรจาต่อรองกับราษฎรเจ้าของที่ดินผู้รับผลกระทบจากโครงการ ฯ จำนวน 9 ราย ซึ่งราษฎรทั้ง 9 ราย ยินยอมที่จะลดราคาที่ดินลงไร่ละ 2,000 บาท เหลือราคาไร่ละ 103,000 บาทและได้ลงชื่อเป็นหลักฐาน และเสนอคณะกรรมการพิจารณากำหนดราคาและจ่ายค่าทดแทนที่ดินทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง โครงการ ฯ ในระดับจังหวัดพิจารณา ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ

คำถามมีว่า “ฝายเชียงดาว” อยู่ในอำนาจของกรมส่งเสริมและพัฒนาพลังงานตรงไหน?
ประเด็นก็คือ ที่สร้างได้ก็เพราะ…อำนาจการเมือง
ที่สุดเมื่อมาด้วย “การเมือง” มันก็สูญสลายด้วย “การเมือง” เช่นกัน
ที่สุดของที่สุดอีกเช่นกัน วันที่ 3 ตุลาคม 2545 “กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน” ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน” สังกัด กระทรวงพลังงาน
สิ้นสุดการทำงานนอกเหนืออำนาจตัวเองอย่างสิ้นเชิง!!!!
เมื่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างล้มไม่เป็นท่า ฝายเชียงดาว ก็ถูกโอนภารกิจในการจะดูแลต่อไปให้กับ…กรมชลประทาน หน่วยในพื้นที่ที่รับผิดชอบต้องรับมาดูแลคือ
โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1

นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับโครงการฝายเชียงดาวแห่งนี้ เป็นโครงการก่อสร้างฝายยางทดน้ำลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน ซึ่งการก่อสร้างฝายยางกั้นแม่น้ำปิง เป็นโครงการที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พ.พ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างที่บริเวณบ้านม่วงฆ้อง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2542 วัตถุประสงค์ก็เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำซึ่งนำไปใช้ในการเพาะปลูก อุปโภค บริโภคและอื่นๆในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง หรือช่วงที่ฝนทิ้งช่วง

“ในขณะนั้นยังไม่มีการพัฒนาแหล่งน้ำในบริเวณดังกล่าว องค์ประกอบหลักของโครงการฝายเชียงดาวในการก่อสร้างช่วงต้นประกอบด้วยอาคารหัวงานและส่วนประกอบ เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 10,144 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ชลประทานแบบแรงโน้มถ่วง 2,882 ไร่ และพื้นที่ชลประทานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีก 7,262 ไร่” หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าว
ตัวฝายเชียงดาวตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านม่วงฆ้อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ซึ่งแยกเข้าจากทางหลวงหมายเลข 107 ที่บ้านดอนประมาณ 1.5 กิโลเมตร ฝายเชียงดาวเป็นการก่อสร้างบนฐานคอนกรีตพร้อมติดตั้งฝายยาง ซึ่งสามารถควบคุมการพองตัวและยุบตัวด้วยน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำเหนือฝายสำหรับใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง และสามารถลดระดับเพื่อระบายน้ำหลากที่มากเกินความต้องการในฤดูฝน ซึ่งจะสามารถระบายตะกอนที่ทับถมบริเวณหน้าฝายได้ด้วย
หัวหน้ากลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝายเชียงดาวเมื่อสร้างเสร็จได้ทดลองใช้งานในปีพ.ศ.2546 ซึ่งผลการทดสอบสามารถใช้งานได้ตามที่ออกแบบไว้ แต่ต่อมามีชาวบ้านซึ่งตั้งอยู่เหนือฝายไปร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบ ซึ่งอยู่เหนือฝายว่าระดับน้ำที่เก็บกักไว้ได้ไหลลอดคันดินเข้าท่วมพื้นที่ทำกินจำนวน 14 ไร่และไม่ยินยอมให้มีการพองฝายยางจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง ซึ่งจ่อมาก็มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาเป็นระยะๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ว่าพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่มีเอกสารสิทธิ์และอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว

“กรมชลประทานให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรที่ใช้น้ำทั้งหมด และไม่เคยเพิกเฉยนับตั้งแต่ได้รับการส่งมอบโครงการนี้มาดูแล ข้อเท็จจริงการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่เกษตรกรจะใช้ประโยชน์จากฝายวังไฮซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ก่อสร้างฝายเชียงดาวนี้ ไปทางด้านท้ายน้ำประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นฝายดั้งเดิมปัจจุบันก็ยังใช้งานอยู่ สำหรับการก่อสร้างฝายยางแห่งนี้ในขั้นตอนกระบวนการการมีส่วนร่วมก่อนดำเนินโครงการจะมีกระบวนการชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านหรือไม่นั้น โครงการชลประทานเชียงใหม่ไม่มีข้อมูล ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูฝนฝายเชียงดาวแห่งนี้จะเป็นจุดวัดน้ำที่สำคัญในลำน้ำปิงบริเวณต้นน้ำปิง เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังการเตือนภัยกรณีมีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำปิง เพราะฝายเชียงดาวสามารถวัดข้อมูลระดับน้ำใช้วิเคราะห์อัตราการไหลก่อนส่งข้อมูลให้สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้” นายเกื้อกูลฯ กล่าว

ในช่วงฤดูแล้ง เมื่อรับมอบโอนโครงการมาบริหารจัดการ การยกฝายยางที่ระดับเกิน 1 เมตรจะมีน้ำลอดคันดินฝั่งซ้ายเหนือฝายเข้าท่วมพื้นที่ของเกษตรกรจำนวน 14 ไร่ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการพองยางด้วยเพราะจะทำให้สวนผลไม้ที่อยู่ริมตลิ่งหลังคันดินได้รับความเสียหาย ส่วนที่จะให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้นั้นมีการประชุมหารือและมีการตรวจสอบรังวัดพื้นที่น้ำท่วม ตลอดจนกันเขตพื้นที่ได้รับผลกระทบไว้เป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ไม่มีเอกสารสิทธิ์และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวจะต้องขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าให้เรียบร้อยและได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้จึงจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนตามข้อระเบียบ ข้อกฎหมายได้

“การแก้ไขปัญหามันก็เหมือนกับการติดกระดุมเสื้อ ถ้ากลัดกระดุมผิดเม็ดมันก็แก้ไม่ตรงจุด ประกอบกับช่วงก่อนที่มีการถ่ายโอนภารกิจและตรวจสอบเอกสาร สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ทำหนังสือขอเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว เพื่อขออนุญาตให้ถูกต้องซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายทั้งเรื่องจ่ายค่าทดแทนรื้อย้ายพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านหน้าฝาย การขยายระบบส่งน้ำจากฝายเชียงดาวสู่ระบบส่งน้ำฝายวังไฮเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”นายเกื้อกูลฯ กล่าว

นายนิวัติชัย อุดเถิน ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายวังไฮ กล่าวว่า เรื่องการก่อสร้างฝายยางเชียงดาวนั้นชาวบ้าน เกษตรกรในพื้นที่ ไม่ได้มีส่วนร่วมมาก่อนตั้งแต่ต้น มาเห็นก็ช่วงที่เขาเข้าพื้นที่มาก่อสร้างแล้วกระทั่งสร้างเสร็จแล้ว ประเด็นสำคัญคือ ชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์จากฝายนี้เลย เพราะเรามีฝายวังไฮอยู่แล้ว ตัวฝายวังไฮที่ว่าอยู่ห่างจากฝายยางเชียงดาวลงไปด้านท้ายประมาณ 1 กิโลเมตร ฝายนี้ทุกปีกลุ่มผู้ใช้น้ำจะต้องทำการซ่อมแซม เพราะว่าฝายวังไฮเป็นฝายหินทิ้ง ใช้ไม้ไผ่เป็นหลักตอกลงไปในแม่น้ำปิงเพื่อกั้นน้ำและรั้งแกเบี้ยนที่ชลประทานช่วยสนับสนุน จริงๆ เราอยากให้ทำการปรับปรุงฝายวังไฮในมีความแข็งแรงมากว่านี้ ทำให้เป็นฝายถาวรไปเลยยิ่งดี ฝายวังไฮนี้หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรมากกว่า 1,500 ไร่ มีชาวบ้านมากถึง 3 หมู่บ้านได้ประโยชน์ ตั้งแต่บ้านม่วงฆ้อง บ้านดง ไปจนถึงบ้านทุ่งหลุก ซึ่งที่นี่เกษตรกรจะทำนาปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีพืชสวน พืชไร่ อีก คือว่าทำการเกษตรได้ตลอดปี

อย่างไรก็ตามหลังจากลงพื้นที่แล้ว นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หน.กลุ่มงานวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ ชี้แจงว่า การซ่อมแซมหรือปรับปรุงฝายยางเชียงดาว ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ตลอดจนต้องได้รับอนุญาตจากการขอเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กรมป่าไม้ ซึ่งความคืบหน้าการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมพร้อมกับเสนอของบประมาณปลูกป่าเพิ่มเติมทดแทน อย่างไรก็ตามความเร่งด่วนลำดับแรกในส่วนของโครงการชลประทานเชียงใหม่คือ การเสนอของบประมาณปรับปรุงฝายวังไฮให้มีความมั่นคง แข็งแรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรมเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสม หากเปรียบเทียบกับการปรับปรุงฝายวังไฮที่อยู่ตอนล่างฝางยางเชียงดาวและเกิดประโยชน์มากกว่า และเป็นความต้องการของเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่จำนวนมากด้วยซึ่งก็เป็นสิ่งที่กรมชลประทานต้องเอาไปพิจารณาด้วยเช่นกัน เพราะเป้าหมายของกรมชลประทานคือ ต้องให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำได้ประโยชน์สูงสุด และยังประโยชน์กับคนหมู่มากเป็นหลัก